Sunday, March 31, 2013

บางกอกแอพ พาสนุกกับตัวเลข โดย Mad Teacher

บางกอกแอพ พาสนุกกับตัวเลข โดย Mad Teacher
ตามทีมข่าวไอทีออนไลน์ไปรู้จักกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ไฟแรง เจ้าของผลงานเกม Mad Teacher กับแนวคิดทุ่มเททำงานด้วยใจรัก หวังสร้างชื่อให้แอพพลิเคชั่นเลือดไทยก้าวสู่ตลาดโลก...เพราะปัจจุบันกระแสความนิยมสมาร์ทโฟนยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้บรรดาผู้ผลิตโทรศัพท์เคลื่อนที่ต่างแข่งขันกันอย่างสูง รวมถึงบรรดาผู้ผลิตแอพพลิเคชั่น ที่จำเป็นต้องแข่งขันกันนำเสนอคอนเทนต์ที่มีเอกลักษณ์ น่าสนใจและถูกใจผู้บริโภค เพื่อแจ้งเกิดในตลาดสมาร์ทโฟนครั้งนี้ ทีมข่าวไอทีออนไลน์มีโอกาสได้รู้จักกับ “บริษัทบางกอกแอพ” ผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่น ซึ่งถือเป็นน้องใหม่ในแวดวงแอพพลิเคชั่นด้วยระยะเวลาในการก่อตั้งบริษัทเพียง 2-3 ปี แต่ฝีไม้ลายมือนั้นมีรางวัลรองชนะเลิศ Samart Innovation Awards 2012 จากโครงการเถ้าแก่น้อยเทคโนโลยี ความร่วมมือระหว่างกลุ่มบริษัทสามารถ และศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นเครื่องการันตี โดย “ธีระ ศิริเจริญ” ซีอีโอหนุ่มไฟแรง รับหน้าที่เป็นผู้ถ่ายทอดรายละเอียดเกี่ยวกับบริษัทบางกอกแอพ และผลงานแอพพลิเคชั่น Mad Teacher เกมคุณครูจอมโหดกับตัวเลขมหัศจรรย์ มาให้ผู้อ่านได้ทำความรู้จัก...IT Digest : บริษัท “บางกอกแอพ” เริ่มต้นขึ้นได้อย่างไรธีระ : บางกอกแอพ ก่อตั้งขึ้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา โดยเริ่มมาจากกลุ่มเพื่อนที่สนิทและเรียนด้านโปรแกรมมิ่ง เป็นสายพัฒนาซอฟต์แวร์และแอพพลิเคชั่นมาด้วยกัน รวมกับเพื่อนอีก 2 คนในสายกราฟิกดีไซเนอร์ ในช่วงแรกเรารวมทีมเพื่อเข้าเวทีประกวดแอพพลิเคชั่นในรายการต่างๆ ซึ่งตอนนั้นแทบทุกคนยังมีงานประจำทำกันทุกคน แต่อาศัยเวลาว่างมาทำงานที่แต่ละคนถนัดให้กับบริษัทตั้งแต่ที่เราเริ่มจับกลุ่มและพัฒนาแอพพลิเคชั่นเพื่อประกวดในโครงการต่างๆ ตั้งแต่ช่วงยังเป็นนักศึกษาและยังไม่ก่อตั้งบริษัท ก็ได้เรียนรู้จากหลายเวทีแม้จะยังไม่ได้รางวัลชนะเลิศ ไม่เข้ารอบ ได้ผ่านเข้ารอบลึกๆ บ้าง แต่ก็ทำให้ได้ประสบการณ์และพัฒนาฝีมือกันพอสมควรในระยะ 3-4 ปี ซึ่งพอประกวดกันหลายๆ ครั้ง ประกอบกับทั้งผู้ใหญ่และเพื่อนกลุ่มต่างๆ ได้เห็นผลงาน ก็สนับสนุนว่าบางผลงานสามารถต่อยอดทำได้จริง และมีโอกาสได้ทำแอพพลิเคชั่นให้กับบริษัทในต่างประเทศจากการแนะนำของเพื่อน จึงทำให้ต้องก่อตั้งบริษัทบางกอกแอพในที่สุด โดยบริษัทรับทำงานใน 2 รูปแบบ คือ งานตามที่ลูกค้าต้องการและงานที่เราพัฒนากันเองเพื่อประกวดหรือเพื่อสร้างรายได้ในอนาคตIT Digest : มุ่งหวังอย่างไรจากบริษัทบางกอกแอพธีระ : บ่อยครั้งที่เข้าไปเสนองานกับลูกค้าและพบว่าลูกค้าส่วนมากยังไม่เข้าใจว่าแอพพลิเคชั่นขององค์กรตนเองควรจะเป็นอย่างไร ควรมีฟังก์ชั่นอะไรบ้าง จึงเป็นหน้าที่ของเราที่จะรวบรวมรายละเอียดว่าเขาต้องการอะไร และนำเสนอผ่านผลงานออกมาให้ดีที่สุดIT Digest : ผลงานสร้างชื่อให้บริษัทมีอะไรบ้างธีระ : เคยมีโอกาสพัฒนาแอพพลิเคชั่นให้บริษัทด้านอสังหาริมทรัพย์เพื่อใช้เพิ่มประสิทธิภาพในงานขายขององค์กร แต่โครงการที่ภูมิใจก็คงเป็นงานของกระทรวงวัฒนธรรม ที่บริษัทได้มีโอกาสทำแอพพลิเคชั่น RCAC84 เกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ศิลปะ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน เฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา โดยธีมหลักคือการทำแอพพลิเคชั่นเพื่อสร้างความน่าสนใจและดึงดูดคนรุ่นใหม่ด้วยเทคโนโลยีทำให้คนที่เดินชมงานศิลปะนั้นได้อะไรมากขึ้นจากการเดินชมงานเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ในปี 2011 บริษัทก็เคยได้รางวัลอันดับที่ 3 จากโครงการเถ้าแก่น้อยเทคโนโลยีเช่นกัน โดยเป็นแอพพลิเคชั่นเกี่ยวกับการเช็กอินในสถานที่ต่างๆ โดยมีรูปการ์ตูนแสดงอารมณ์ยิ้ม ดีใจ เศร้า ให้เลือกก่อนจะแชร์โดยเชื่อมต่อกับเฟซบุ๊กIT Digest : เกม Mad Teacher มีแนวคิดจากอะไรธีระ : แนวคิดแรกคือผมอยากทำแอพพลิเคชั่นที่ไม่ได้ใช้งานได้แค่คนไทย อยากให้เมื่อผลงานขึ้นไปอยู่บนแอพสโตร์แล้วคนทั่วโลกก็สามารถใช้งานได้ เพราะไม่ค่อยเห็นคนไทยทำแอพพลิเคชั่นเพื่อขายคนทั่วโลกสักเท่าไหร่ จึงใช้ความชอบส่วนตัวของหลายคนในทีมที่ชอบเล่นเกม รวมกับความถนัดของเพื่อนที่เป็นโปรแกรมเมอร์และวิศวกรคอมพิวเตอร์ซึ่งมีความถนัดเรื่องตัวเลข และคนที่เชี่ยวชาญภาษาอังกฤษ จึงเกิดเป็นเกม Mad Teacher ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นเกมแอพแรกของบริษัทIT Digest : เกม Mad Teacher แตกต่างจากเกมอื่นอย่างไรธีระ : เราอยากนำเสนอให้ทุกคนรู้สึกว่ามันเป็นเกมที่สนุก เพราะเราพัฒนาขึ้นเหมือนทำในเวลางานแต่เป็นเวลาว่างของพวกเรา แต่ให้เข้ากับแนวคิดของเกมที่ต้องการให้เล่นได้เรื่อยๆ และได้เล่นร่วมกับเพื่อน ต้องบอกว่าเกิดความคิดในช่วงที่แอพพลิเคชั่น Draw Something กำลังได้รับความนิยม อยากให้เด็กก็เล่นได้ด้วย เล่นแข่งกับเพื่อนได้ด้วย ส่วนในเรื่องคาแรกเตอร์ก็มาจากเกมฮิตอย่าง Angry Birds ที่ทำให้รู้สึกว่าเกมที่ดีต้องมีคาแรกเตอร์ชัดเจน โดยเราปรับคาแรกเตอร์ให้เป็นภาพที่ทุกคนเข้าใจตรงกัน จึงออกมาเป็นรูปเด็กผู้หญิงถือไม้บรรทัด เหมือนกำลังจะสอนหรือเตรียมแข่งขันกับทุกคนIT Digest : ตั้งเป้าอย่างไรกับเกม Mad Teacherธีระ : อยากให้ทุกคนเล่นเกมของเราได้ พ่อแม่สามารถเล่นและสอนลูกไปได้ด้วย เพื่อนก็สามารถเล่นและแข่งกันได้สนุก แต่ได้ฝึกสมองไปด้วย ทุกวันนี้มองไปทางไหนเราก็จะเห็นคนก้มหน้าเล่นสมาร์ทโฟน เล่นแท็บเล็ต ซึ่งส่วนมากก็คือเล่นเกม จึงอยากให้เวลาสั้นๆ ที่ทุกคนเล่นเกมนั้นเป็นช่วงที่ได้ฝึกความรู้เล็กๆ น้อยๆ ไปด้วย โดยในเวอร์ชั่นนี้เราใช้ชื่อว่า Mad Teacher The Magic of Number โดยในอนาคตอาจมีการต่อยอดไปเป็นภาคอื่น ซึ่งเป็นวิชาต่างๆ ก็ได้IT Digest : วางแผนต่อยอดผลงาน Mad Teacher อย่างไรธีระ : ส่วนเป้าหมายในเชิงธุรกิจ เราวางทางเลือกไว้ 3 ทาง คือ 1.สามารถหารายได้จากการขายไอเทมในเกม 2.สร้างคาแรกเตอร์ให้ได้ชัดเจนเหมือนเป็นเกม Angry Birds ของคนไทย ที่สามารถต่อยอดไปในด้านอื่น เช่น นำคาแรกเตอร์ไปทำเป็นของพรีเมียมได้ และ 3.ขายระบบให้กับผู้สนใจ เนื่องจากเราพัฒนาระบบได้ดีในระดับหนึ่งแล้ว หากในอนาคตจะมีผู้สนใจทำเกมในรูปแบบคล้ายกัน ก็อาจจะสามารถขายแพลทฟอร์มให้แก่ผู้สนใจ ส่วนการเปิดให้ดาวน์โหลดนั้น ในขั้นแรกจะเปิดให้ดาวน์โหลดผ่านแอพสโตร์ก่อน โดยตั้งเป้าไว้ในช่วงกลางเดือน-ปลายเดือนเมษายนนี้ โดยหากประสบความสำเร็จและเริ่มอยู่ตัวบนแอพสโตร์แล้ว เราอาจขยายไปเป็นแอพพลิเคชั่นสำหรับผู้ใช้แอนดรอยด์ต่อไปด้วยIT Digest : กังวลกับชื่อเกม Mad Teacher หรือไม่ธีระ : ในช่วงแรกก็ค่อนข้างกังวล แต่เราใช้ชื่อนี้มาตั้งแต่ตอนคิดทำผลงาน ประกอบกับเป็นชื่อที่หลายคนบอกว่าจดจำได้ง่าย จากการสอบถามผู้ใหญ่รวมถึงครูอาจารย์ส่วนมากเราก็ยังไม่ถูกตำหนิ ส่วนมากจะบอกว่าฟังในตอนแรกอาจจะไม่ได้รู้สึกดีแต่ก็ทำให้จำได้ง่าย เรายืนยันว่าไม่ได้มีเจตนาในเชิงลบเกี่ยวกับครูอาจารย์ เพราะคาแรกเตอร์ที่นำเสนอออกมาก็ทำให้ดูน่ารักและดูน่าหัวเราะมากกว่าIT Digest : มองพฤติกรรมการใช้แอพพลิเคชั่นของคนในปัจจุบันอย่างไรธีระ : คนเดี๋ยวนี้ใช้เวลาค่อนข้างสั้นในการตัดสินใจดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น เดาว่าไม่เกิน 30 วินาที ซึ่งหากเราไม่มีคาแรกเตอร์เกมหรือความน่าสนใจมากพอ ก็อาจทำให้เราเสียโอกาสนั้นได้ ในเบื้องต้นหลังเปิดให้ดาวน์โหลด เราตั้งเป้าว่าจะให้กลุ่มเพื่อนหรือคนใกล้ตัวทดลองดาวน์โหลดและเล่นดูก่อน พร้อมกันนั้นก็จะปรับปรุงและพัฒนาเกมอย่างต่อเนื่องด้วย โดยหลังจากนั้นค่อยโปรโมตอีกครั้ง หรือเดินสายประกวดในโครงการต่างๆ อีกครั้ง เพื่อสร้างการเป็นที่รู้จักของผลงานและบริษัทIT Digest : อยากฝากอะไรถึงคนที่ฝันจะเป็นนักพัฒนาแอพพลิเคชั่นธีระ : หลายคนมีความฝันและมีไฟอยากทำอะไรหลายอย่างเหมือนคนมีชื่อเสียงและผู้ที่ประสบความสำเร็จในระดับโลก แต่ก็ปล่อยให้ความฝันนั้นผ่านไปโดยที่ไม่ได้ลงมือทำให้เป็นจริง โดยส่วนตัวมองว่ากลุ่มที่เพิ่งเรียนจบมหาวิทยาลัยน่าจะเป็นช่วงที่ดีที่สุดในการเริ่มต้น เราอาจเริ่มจากจุดเล็กๆ เหมือนอย่างที่บางกอกแอพเริ่ม คือรวมกลุ่มเพื่อนที่สนิทหรือชอบในแนวเดียวกัน และทดลองทำผลงานออกมา ทุกคนต้องทำงานหนัก ความพยายาม ความอดทนก็ต้องมีติดตัว ใครที่เคยทำผลงานเอาไว้ในช่วงที่เรียนก็ไม่อยากให้ทิ้งเสียเปล่า ควรต่อยอดจนกว่าจะได้ผลงานจริงออกมา ขณะเดียวกันก็ต้องค้นหาแหล่งข้อมูลจากทั่วโลกอยู่เสมอ เพราะปัจจุบันทั่วโลกก็มีการแข่งขันและตื่นตัวเรื่องแอพพลิเคชั่นสูงมาก ผมเชื่อว่าคนไทยมีศักยภาพมากพอ. 

No comments:

Post a Comment

Blog Archive