Monday, April 15, 2013

มีเดียมอนิเตอร์ เสนอช่อง11 ปรับเนื้อหาเน้นสาธารณประโยชน์

มีเดียมอนิเตอร์ เสนอช่อง11 ปรับเนื้อหาเน้นสาธารณประโยชน์
มีเดียมอนิเตอร์ ทำการศึกษาผังรายการของช่อง 11 พร้อมเสนอปรับเนื้อหา-เพิ่มสัดส่วนภาค ปชช. เน้นเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ...รายงานข่าวแจ้งว่า โครงการเสริมสร้างสื่อมวลชนศึกษาเพื่อสุขภาวะ (มีเดียมอนิเตอร์) เผยการสำรวจ “การศึกษาผังรายการเพื่อวิเคราะห์ทิศทางการประกอบกิจการบริการสาธารณะของฟรีทีวี” คือ หัวข้อที่โครงการมีเดียมอนิเตอร์ มูลนิธิสื่อมวลชนศึกษา ทำการศึกษาผังรายการของช่อง 11 ออกอากาศระหว่างวันที่ 15-21 ม.ค. 2556 ที่ผ่านมา โดยวิเคราะห์ผังและเนื้อหารายการ เพื่อจำแนกสัดส่วนรายการประเภท ข่าวสาร สาระประโยชน์ สาระบันเทิง บันเทิง และอื่นๆ โดยอ้างอิงและเปรียบเทียบกับหลักเกณฑ์ของ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และหลักเกณฑ์อื่นที่กำหนดในการศึกษาครั้งนี้ เช่น คำอธิบายลักษณะรายการสาระบันเทิง บันเทิง โฆษณาบริการธุรกิจ  ที่มีเดียมอนิเตอร์เคยกำหนดในการศึกษาเรื่องผังรายการโทรทัศน์  และนโยบายด้านรายการและแผนการจัดทำรายการขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ซึ่งใช้เป็นเกณฑ์ในการวิเคราะห์เฉพาะช่องไทยพีบีเอส โดยสรุปผลการศึกษาและข้อเสนอ ต่อแนวทางการประกอบกิจการเพื่อบริการสาธารณะดังนี้1. จากการวิเคราะห์ผังและเนื้อหารายการ พบว่า สัดส่วนรายการของช่อง 11 ในช่วง 1 สัปดาห์ที่ศึกษา มีสัดส่วนรายการที่เป็นข่าวสาร 5,055 นาที/สัปดาห์หรือ 50% ขณะที่สัดส่วนรายการสาระที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ 4,100 นาที หรือ 41% เมื่อรวมแล้วเป็น 9,155 นาที หรือ  91% 2. ช่อง สทท. 11 มีสัดส่วนข่าวสารสูงกว่าสัดส่วนสาระที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ แต่เนื้อหาที่นำเสนอส่วนใหญ่เป็นข้อมูลของภาครัฐเป็นหลัก เช่น นโยบาย และกิจกรรมต่างๆ เป็นต้น ในขณะที่มีการนำเสนอข้อมูลและความคิดเห็นของภาคประชาชน รวมทั้งภาคส่วนอื่น ในสัดส่วนที่น้อยกว่า 3. ผังรายการและสัดส่วนรายการของช่อง สทท.11 ในช่วงเวลาที่ทำการศึกษา นับว่า มีเนื้อหาที่สะท้อนบริการสาธารณะประเภทที่สาม คือ “มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อกระจายข้อมูลข่าวสาร เพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างรัฐบาลกับประชาชนและรัฐสภากับประชาชน การกระจายข้อมูลข่าวสารเพื่อการส่งเสริมสนับสนุนในการเผยแพร่และให้การศึกษาแก่ประชาชนเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข บริการข้อมูลข่าวสารอันเป็นประโยชน์สาธารณะแก่คนพิการ คนด้อยโอกาส หรือกลุ่มความสนใจที่มีกิจกรรมเพื่อประโยชน์สาธารณะหรือบริการข้อมูลข่าวสารอันเป็นประโยชน์สาธารณะอื่น” ทั้งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์และพันธกิจหลักของสถานีที่กำหนดว่า “เป็นสถานีหลักในด้านข่าวสารความรู้และการประชาสัมพันธ์ เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสรับรู้ เกิดความรู้ความเข้าใจ สามารถนำไปพัฒนาคุณภาพชีวิต” ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่า ในกลุ่มรายการสาระประโยชน์จำนวนรวม 4,100 นาที/สัปดาห์นั้น มีเนื้อหาเพื่อคุณภาพชีวิต จำนวน 691 นาที/สัปดาห์ ในขณะที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการส่งเสริมประชาธิปไตยเพียง 130 นาที/สัปดาห์  ซึ่งนับว่าเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างน้อย 4. จากการศึกษายังพบการโฆษณาสินค้าและบริการที่เป็นโฆษณาตรงในช่วงของรายการข่าวกีฬา ข่าวสิ่งแวดล้อม รายการเกษตร และรายการด้านเทคโนโลยี เช่น Thailand Mega Show, East Water, PTT Group, กะทิชาวเกาะ เป็นต้น และพบการโฆษณาแฝงของสินค้าและบริการในช่วงของรายการข่าว รายการเกษตรและรายการให้ความรู้ด้านภาษาอังกฤษ เช่น APF (อำพลฟู้ดส์), FBT, ซาร่า เป็นต้น ทั้งยังพบรายการที่มีผู้สนับสนุนเป็นองค์กรต่างๆ เช่น บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ธนาคารออมสิน การไฟฟ้านครหลวง เป็นต้น โดยเนื้อหารายการ เป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์องค์กรที่สนับสนุน สำหรับ ข้อเสนอ มี 3 ประการ ประกอบด้วย 1. ช่อง 11 ควรปรับเนื้อหาจากการเน้นที่ภาครัฐเป็นหลัก ให้มีการเพิ่มสัดส่วนเนื้อหาจากภาคอื่นของสังคม เช่น ภาคประชาชน ภาควิชาการ เป็นต้น และหากช่อง 11 ต้องการเป็นสื่อสาธารณะประเภทที่สามซึ่งมีวัตถุประสงค์ดังระบุข้างต้น ก็ต้องเพิ่มเนื้อหาและสัดส่วนเวลากับจำนวนรายการเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมทั้งเพิ่มสัดส่วนรายการที่เป็นประโยชน์หรือตอบสนองต่อความต้องการของคนพิการ คนด้อยโอกาส หรือกลุ่มคนชายขอบ  อีกทั้ง เนื้อหารายการโดยภาพรวม ควรให้ความสำคัญกับประโยชน์ที่ประชาชนผู้ชมจะได้รับ มากกว่าเพื่อตอบสนองประโยชน์ขององค์กร/หน่วยงานที่สนับสนุนรายการ ทั้งนี้เพื่อให้ช่อง 11 เป็นสื่อสาธารณะเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง 2. ช่อง 11 ควรปฏิบัติตามกฎหมายและหลักเกณฑ์ของ กสทช. ที่กำหนดว่า “การประกอบกิจการบริการสาธารณะประเภทที่หนึ่งและประเภทที่สาม หารายได้จากการโฆษณาไม่ได้ เว้นแต่เป็นการหารายได้โดยการโฆษณาหรือเผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับงานหรือกิจการของหน่วยงานรัฐ  รัฐวิสาหกิจ สมาคม มูลนิธิ หรือนิติบุคคลอื่นที่มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินกิจการเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยไม่แสวงหากำไรในทางธุรกิจ หรือ การเสนอภาพลักษณ์ขององค์กร บริษัท และกิจการ โดยมิได้มีการโฆษณาสรรพคุณ คุณประโยชน์ หรือคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อม” และ 3. กสทช. ควรกำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนของลักษณะเนื้อหารายการที่” ส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างรัฐบาลกับประชาชนและรัฐสภากับประชาชน” “การกระจายข้อมูลข่าวสารเพื่อการส่งเสริมสนับสนุนในการเผยแพร่และให้การศึกษาแก่ประชาชนเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ทั้งนี้ เพื่อผลในทางปฏิบัติด้านการผลิตรายการ และการตรวจสอบ การประกอบกิจการบริการสาธารณะ ประเภทที่สาม.     

No comments:

Post a Comment

Blog Archive