Monday, April 15, 2013

เปิดแผนปฏิบัติการ รับมือภัยพิบัติ-เหตุฉุกเฉิน

เปิดแผนปฏิบัติการ รับมือภัยพิบัติ-เหตุฉุกเฉิน
เปิดแผนปฏิบัติการ รับมือภัยพิบัติ-เหตุฉุกเฉิน กรมประชาสัมพันธ์ นำร่อง กสทช.ชี้ใช้งานได้จริงขณะเกิดเหตุ... ยังคงเป็นเรื่องสำคัญอยู่ทุกเวลา สำหรับการเตือนภัยพิบัติ-เหตุฉุกเฉิน ซึ่งนับวันจะมองดูเหมือนเรื่องไกลตัว แต่ก็คงไม่มีใครปฏิเสธว่า หากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นจะไม่ส่งผลกระทบกับทุกฝ่าย ด้วยเหตุนี้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะหน่วยงานกลาง จึงจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการแนวทางปฏิบัติของสื่อมวลชนเกี่ยวกับการนำเสนอข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉินในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เพื่อประสานเชื่อมโยงทุกภาคส่วนให้มีแนวทางปฏิบัติเป็นไปในทิศทางที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ และสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างผู้ประกอบกิจการและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง   เนื่องจากข้อมูลข่าวสารในปัจจุบันมีอยู่หลากหลาย อาจทำให้การปฏิบัติหน้าที่ของสื่อดำเนินการไม่สอดคล้องกับหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารหรือระงับยับยั้งเหตุโดยตรง ในทางปฏิบัติที่แท้จริงของสื่อมวลชนอาจเกิดอุปสรรคและปัญหาหลายประการที่ไม่สามารถปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของหน่วยงานภาครัฐได้ กสทช. ในฐานะผู้มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ จึงควรแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หาทางในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นสำหรับการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อเกี่ยวกับการแจ้งเตือนภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉิน นอกจากนี้ ยังกระตุ้นให้สื่อมวลชนตระหนักถึงการนำเสนอข่าวสารเกี่ยวกับภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉินอย่างระมัดระวัง รวมถึงเป็นการสร้างความสัมพันธ์ในระยะยาวกับหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ เพื่อสร้างภาคีเครือข่ายการแจ้งรายงานข้อมูลข่าวสารในระยะยาว   นายประเสริฐ อภิปุญญา รองเลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า สถานการณ์ภัยพิบัติที่เคยเกิดขึ้นกับประเทศไทยนั้น สร้างความเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สิน สิทธิ หรือเสรีภาพของประชาชนในวงกว้างอยู่เสมอ การปฏิบัติงานของผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์จึงมีความสำคัญในการเผยแพร่และนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นต่อการเตรียมพร้อม เพื่อป้องกัน แก้ไขและบรรเทาเหตุภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉินที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 กำหนดให้ กสทช. มีอำนาจกำกับดูแลการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์เพื่อให้ผู้รับบริการได้รับบริการที่มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ รวดเร็ว ถูกต้องและเป็นธรรม กสทช. จึงได้ออกประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติงานของผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ในกรณีเกิดภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉิน เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ปฏิบัติหน้าที่เป็นไปในแนวทางเดียวกันเพื่อประโยชน์สูงสุดในการนำเสนอข่าวสารที่จำเป็นต่อสาธารณะ  รองเลขาธิการ กสทช. กล่าวต่อว่า แผนของกรมประชาสัมพันธ์ มีความชัดเจนมากที่สุด และสามารถปฏิบัติได้จริง โดยได้นำมาใช้จริงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เป็นตัวอย่างที่ดีได้ ขณะที่แผนของช่องอื่นๆ ยังขาดรายละเอียด และความชัดเจนอยู่บ้าง แต่แผนนี้จะไม่ได้นำมาใช้เป็นหลักปฏิบัติของทุกสถานี นางสาวอัมพวัน เจริญกุล รองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ กล่าวว่า แนวทางในการออกอากาศของหน่วยงานสื่อ (ขณะเกิดเหตุ) ประกอบด้วย 12 ข้อ คือ 1.ศึกษาข้อมูลความเป็นมา แนวโน้มเหตุการณ์ การดำเนินงานของหน่วยงาน บุคคลที่เกี่ยวข้อง 2.รายงานข่าวต่อเนื่องและบันทึกภาพนิ่งไว้ ในกรณีของสื่อโทรทัศน์ต้องเก็บภาพและเสียงความเคลื่อนไหวของเหตุการณ์รวมทั้งที่มองเห็นใกล้ตัวจากสถานี และส่งภาพออกอากาศทันที 3.เปิดตัวรายการพิเศษเพื่อรายงานข่าวด่วน 4.ต้องรายงานข่าวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาพข่าวโทรทัศน์ไม่ควรใช้ภาพข่าวเดิมซ้ำไปซ้ำมา ทั้งนี้ต้องใช้ภาพถ่ายใหม่ตลอดเวลาเพื่อให้เห็นพัฒนาการของเหตุการณ์ 5.ปรับเปลี่ยนมุมมองประเด็นข่าวและรายการให้ทันเหตุการณ์ตลอดเวลา 6.ขณะออกอากาศควรรายงานข่าวหรือขึ้นตัววิ่ง การยกเลิกเที่ยวบิน การคมนาคม เช่น รถไฟรถยนต์ไปด้วยรวมถึงสายด่วน หรือหมายเลขโทรศัพท์ของโรงพยาบาล ศูนย์บัญชาการหรือศูนย์ที่ให้ข้อมูลข่าวสารได้  7.ขณะเกิดกรณีเกี่ยวข้องกับชาวต่างชาติ หรือนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ต้องให้ข้อมูลข่าวสารภาษาไทยและภาษาอังกฤษตลอดเวลา 8.เอื้อเฟื้อแลกเปลี่ยนข่าวและภาพกับสื่ออื่นๆ เพื่อให้การรายงานเหตุการณ์แพร่กระจายออกไปอย่างรวดเร็วและได้ผล คิดถึงประชาชนเป็นหลัก 9.พยายามเก็บภาพการทำงานของฝ่ายต่างๆ ไว้ด้วย การจัดเก็บต้องลำดับผลการทำงานให้เป็นระบบ 10.การรายงานข้อมูลในลักษณะการเตือนภัย ต้องห้ามแสดงความคิดเห็น 11.ในกรณีสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์หรือถ่ายทอดสดจากผู้สื่อข่าวในท้องที่ เจ้าหน้าที่หรือผู้ประสบภัยพิบัติต้องบันทึกชื่อของผู้ให้ข้อมูล และ 12.การรายงานข่าว /การนำเสนอต้องยึดหลักข้อบังคับกรมประชาสัมพันธ์ว่าด้วยมาตรฐานทางจริยธรรมของการประกอบวิชาชีพในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ของกรมประชาสัมพันธ์ พ.ศ.2555  ส่วนขั้นตอนการปฏิบัติเมื่อมีการเตือนภัยของโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทรท.) แบ่งออกเป็น 3 ขั้น คือ ขั้นที่ 1 ประกอบด้วย 3 ข้อ ได้แก่ 1. ออกตัววิ่งประกาศเตือนภัยเมื่อได้รับประกาศเตือนภัยจากศูนย์ภัยพิบัติแห่งชาติ ในห้วงเวลาที่เหมาะสมระหว่างการถ่ายทอดสด 2. ประสานศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ขอข้อมูลเพิ่มเติมของสถานการณ์เพื่อออกอักษรตัววิ่งที่ถูกต้องและทันต่อเวลา โดยส่งข้อมูลโดยตรงมายังศูนย์ถ่ายทอดสดของโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ขั้นที่ 2 ประกอบด้วย 1.เมื่อเกิดสถานการณ์ระดับต่างๆ ตามความรุนแรงของสถานการณ์ให้สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ในฐานะแม่ข่ายในการออกอากาศประกาศเตือนพิจารณาถอดสัญญาณออกจากรายการสดได้ตามความเหมาะสม 2.สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยพีบีเอสและสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (สทท.11) ซึ่งโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยขอความร่วมมือในการถ่ายทอดสด พิจารณาถอดสัญญาณออกจากการถ่ายทอดสดได้ตลอดเวลา 3.สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 อ.ส.ม.ท. สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 สถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ทีวี และสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม (TGN) ยังคงดำเนินรายการถ่ายทอดสดต่อไปจนกว่าจะจบภารกิจ   ขั้นที่ 3 ประกอบด้วย 1.กรณีศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ประสานขอความร่วมมือจากสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกให้เตรียมห้องถ่ายทอดสด พร้อมออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกในฐานะแม่ข่ายทางฮอตไลน์ 2.สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกถ่ายทอดสดชี้แจงสถานการณ์เตือนภัยและเตือนภัยพิบัติ 3.สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย พิจารณารับสัญญาณถ่ายทอดสดการชี้แจงสถานการณ์การเตือนภัยจากสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ขณะที่ภายหลังเกิดเหตุ 1.อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ รองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ที่ได้รับมอบหมายหัวหน้าหน่วยงานในพื้นที่หรือผู้ที่อธิบดีมอบหมายพิจารณาประกาศใช้แผนพระอินทร์ 1 (สถานการณ์ปกติ) เป็นลายลักษณ์อักษรหรือวิธีอื่นใดก็ได้ในกรณีหัวหน้าหน่วยงานในพื้นที่หรือผู้ที่อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์มอบหมายเป็นผู้ประกาศใช้แผนหลังจากประกาศให้รายงานอธิบดี รองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ที่ได้รับมอบหมายและศูนย์ IOC กรมประชาสัมพันธ์ทราบด่วน 2.ผู้อำนวยการสถานีฯ แจ้งยกเลิกสถานการณ์ตามข้อมูลหรือคำสั่งจากหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบ 3. หน่วยงานสื่อจัดรายงานข้อมูล ผลการดำเนินการนำเสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น ก่อนส่งมารวบรวมที่ศูนย์ IOC เพื่อแจ้งต่อสำนักงาน กสทช. ภายใน 30วัน โดยประกอบด้วย 3.1 รายชื่อผู้รับผิดชอบของรัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐ ในกรณีที่มีการร้องขอให้ออกอากาศแจ้งข่าวหรือเตือนภัยแก่ประชาชนพร้อมวิธีการร้องขอ 3.2 ผังรายการในการออกอากาศกรณีแจ้งข่าว หรือเตือนภัยที่ออกไปแล้ว 3.3 เอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการดำเนินการออกอากาศแจ้งข่าวหรือเตือนภัยแก่ศูนย์ IOC ภายใน 15 วันหลังจากประกาศแจ้งยกเลิกสถานการณ์

No comments:

Post a Comment

Blog Archive