Sunday, April 7, 2013

หนุนแก้ พ.ร.บ.คอมพ์ แต่ห่วงปัญหาบังคับใช้ เหตุเน้นวิชาการมาก

หนุนแก้ พ.ร.บ.คอมพ์ แต่ห่วงปัญหาบังคับใช้ เหตุเน้นวิชาการมาก
นักวิชาการ คนเว็บ ตำรวจ ประสานเสียงสนับสนุนยกร่าง พ.ร.บ.คอมพ์ 2550 พบน่ากังวลหลายประเด็น ทั้งเกิดความซับซ้อนและส่อเกิดปัญหาในการบังคับใช้ ติงความรู้ความเข้าใจผู้บังคับใช้กฎหมายยังต่ำ...นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ อาจารย์พิเศษวิชากฎหมายเทคโนโลยี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะอดีตกรรมาธิการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 เปิดเผยว่า โดยส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการแก้กฎหมายครั้งนี้ เพราะแม้เจตนารมณ์ในการแก้ไขจะเป็นเจตนารมณ์ดี แต่เนื้อหาในการแก้ไขนั้นยังไม่ถูกจุดนายไพบูลย์ กล่าวว่า เริ่มจากการแก้มาตรา (ม.) 5 ม.7 เกี่ยวกับการเข้าถึงข้อมูลระบบคอมพิวเตอร์ จะต้องมีคำว่า มีมาตราการรักษาความปลอดภัย หรือมาตรการการเข้าถึง ปัจจุบันการตระหนักรับรู้ถึงไอทีค่อนข้างน้อยจึงมีการเข้าไปขโมยดูข้อมูลเยอะ จึงมีการระบุให้เป็นความผิดโดยแยกออกมาเป็นอีกหมวดหนึ่ง ว่าหากผู้ใดเข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์ผู้อื่นก็จะมีความผิดทันที ซึ่งเรื่องนี้จะทำให้เกิดปัญหาค่อนข้างมาก เพราะปัจจุบันเราใช้เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์กันอย่างแพร่หลาย ผู้ใช้มีสิทธิเสรีภาพในการเข้าดูข้อมูลของผู้อื่นได้ โดยไม่ถือเป็นการละเมิด ในการใช้งานเว็บไซต์ทั่วไป เมื่อเราโพสต์ข้อความบนเว็บไซต์ ถือเป็นการยินยอมตามกฎหมายลิขสิทธิ์ ซึ่งทั่วโลกไม่มีใครออกกฎหมายอย่างนี้ เพราะการค้นหาข้อมูลของบุคคลอื่นและนำไปใช้ในเชิงความรู้นั้น สามารถทำได้โดยไม่มีความผิดอีกประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือ เกี่ยวกับเรื่องการทำสำเนาข้อมูล ซึ่งถือเป็นอีกประเด็นที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากการส่งผ่านข้อมูลระหว่างกันเซิร์ฟเวอร์จะเกิดการทำสำเนาโดยชั่วคราว หากมีการเขียนกฎหมายอาญา ในลักษณะว่าการทำสำเนาข้อมูลเป็นความผิด ดังนั้นในการส่งข้อมูลทั้งที่ผิดกฎหมายและไม่ผิดกฎหมาย ก็จะทำให้ทุกคนกลายเป็นคนอาชญากรรมทั้งหมด นอกจากนี้ ยังขัดกับกฎหมายลิขสิทธิ์ที่ระบุว่า การทำสำเนาที่ใช้เท่าที่เป็นประโยชน์โดยไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์นั้นสามารถทำได้ แต่หากมีการเขียนกฎหมายในเชิงดังกล่าว อาจก่อให้เกิดความซ้ำซ้อนกับกฎหมายลิขสิทธิ์ รวมถึงการเขียนเกี่ยวกับอำนาจศาลด้วย เนื่องจาก พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์นั้นจะขึ้นศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ส่วน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์นั้นขึ้นศาลอาญา จึงอาจก่อให้เกิดปัญหาในการปรับใช้ได้สำหรับการแก้ไขในประเด็นการครอบครองสื่อลามกอนาจารของเด็ก ซึ่งเป็นเรื่องน่ากลัวมาก เพราะการครอบครองหมายถึงการมีอยู่ในระบบไม่ว่าวิธีใดก็ตาม ในประเด็นดังกล่าวจะสร้างความลำบากให้แม้แต่กับเจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวน ซึ่งต้องมีการดาวน์โหลดแคชชั่วคราว เพื่อสืบสวนสอบสวน ก็จะกลายเป็นความผิดทันทีโดยไม่ตั้งใจ ซึ่งความผิดเกี่ยวกับเรื่องเด็กนี้มีอยู่ในประมวลกฎหมายอาญาอยู่แล้วก็จะทำให้เกิดความซ้ำซ้อนประเด็นถัดมาคือ การแก้ไขเรื่องสแปมมิ่ง ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการโซเชียลมีเดียโดยตรง ใน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ระบุว่าในการส่งอีเมล์นั้น ต้องปกปิดแหล่งที่มาของข้อมูล แต่ในประเทศไทยนั้นใช้ไอพีจริงในการส่งข้อมูล ซึ่งเรื่องนี้ควรอยู่ในกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล แต่สแปมนั้นมีจำนวนมาก สแปมถือเป็นเรื่องทางแพ่ง หากนำมาใส่ในกฎหมายอาญาก็จะเป็นความผิดกรณีปลอมไอพีเท่านั้น ซึ่งประเด็นนี้จะส่งผลกระทบต่อผู้ใช้โซเชียลมีเดียโดยตรง โดยเฉพาะทวิตเตอร์ เพราะเมื่อเราทวิตข้อความออกไป และผู้ที่ติดตามได้เห็นข้อความนั้น ซึ่งแม้จะเป็นการเห็นโดยอัตโนมัติ ก็จะถือว่าเป็นความผิดใน ม.11 ทันทีนอกจากนี้ ใน ม.15 เกี่ยวกับการแก้ไขคำว่าจงใจ สนับสนุน ยินยอมออกไป และใช้คำว่ารู้หรือควรรู้นั้น ไม่ได้ทำให้ความหมายแตกต่างไปจากเดิม โดยส่วนตัวมองว่า ควรคงวรรคแรกไว้และเพิ่มวรรคท้ายว่า กรณีผู้ให้บริการเว็บไซต์จะมีความผิดต่อเมื่อมีการนำข้อมูลนั้นผ่านการกรองก่อนนำเสนอ แต่หากเป็นการผ่านเครื่องประมวลผลอัตโนมัตินั้นจะไม่ถือเป็นความผิดเลย โดยกฎหมายในต่างประเทศ จะมีระบุไว้ชัดเจนว่า การเลือกหรือคัดข้อมูลก่อนนำมาโพสต์บนอินเทอร์เน็ตนั้นถือเป็นความผิด หากเป็นการนำเสนอโดยการรับอัตโนมัตินั้นอย่างไรไม่ถือเป็นความผิด ซึ่งการแก้ไขถ้อยคำดังกล่าวนั้นถือว่าแก้ไขไม่ถูกจุดในส่วนของ ม.17 ซึ่งจะมีการแก้ไขเกี่ยวกับเขตอำนาจว่า หากมีการกระทำความผิดตามกฎหมายกระทำความผิดนอกราชอาณาจักร ถือเป็นความผิดในราชอาณาจักร และสามารถลงโทษได้ ซึ่งในส่วนนี้มีระบุในกฎหมายอาญาอยู่แล้ว แต่ในหลายครั้งที่ไม่สามารถเอาผิดได้นั้น เป็นเพราะกฎหมายระบุไว้ว่าต้องดำเนินการสืบพยานต่อหน้าจำเลย ซึ่งหากต้องการแก้ไขประเด็นดังกล่าวต้องแก้ไขที่กฎหมายอื่น ไม่ใช่แก้ไขที่ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์แม้จะมีเจตนารมณ์ที่ดีในการแก้ไข แต่ผู้ร่างยังไม่เข้าใจปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในทางปฏิบัติ ถือเป็นการแก้ไขในเชิงวิชาการ ซึ่งมองว่ายังไม่สามารถนำมาปรับใช้ได้ อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 นั้น ก็ถือว่าสามารถใช้ได้ในระดับหนึ่ง แต่ต้องมีการแก้ไขโดยเฉพาะประเด็น ม.15 เรื่องความผิดของผู้ให้บริการ ซึ่งหากมีการแก้ไขอย่างถูกต้อง ก็จะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้นักลงทุนต่างชาติ กล้าเข้ามาดำเนินธุรกิจ สร้างผลดีด้านเศรษฐกิจ การลงทุนได้อีกมาก ส่วนประเด็นที่ถือว่ามีความร้ายแรงอย่างมากในการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้คือ ประเด็นการทำสำเนา เนื่องจากการทำธุรกรรมทั้งบนคอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้น ล้วนแต่ต้องมีการทำสำเนา หรือการแคชข้อมูลเก็บไว้ทั้งสิ้น หากระบุว่าการทำสำเนาผิดก็จะทำให้เกิดเรื่องวุ่นวายถ้าจะให้ดีควรเปิดโอกาสให้สมาคมผู้ดูแลเว็บไทย เว็บโฮสติ้ง สื่อมวลชน ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้เข้าเป็นผู้ร่วมร่างกฎหมายฉบับนี้ ไม่ใช่ให้อยู่ในตำแหน่งผู้ร่วมฟัง หรือประชาพิจารณ์ โดยที่ไม่สามารถมีส่วนร่วมในการแก้ไขกฎหมาย เพราะหาก พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ มีเนื้อหาในลักษณะที่เป็นการแก้ไขนี้ จะทำให้เกิดความวุ่นวายในการบังคับใช้กฎหมายมากขึ้น โดยเฉพาะหน่วยงาน องค์กร อัยการ ศาล ตลอดจนประชาชนทั่วไป ซึ่งมีความเข้าใจใน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ค่อนข้างน้อย หรือสับสนอยู่แล้ว นายไพบูลย์ กล่าวด้านนางจีรนุช เปรมชัยพร ผู้ให้บริการเว็บไซต์ประชาไท กล่าวว่า เห็นด้วยกับการแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เนื่องจากในอดีตมีปัญหาในแง่การบังคับใช้ ประกอบกับเจ้าหน้าที่ก็ยังมีความเข้าใจน้อย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ จึงควรทำให้เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายได้ดีขึ้น ขณะเดียวกัน ก็ควรปรับประเด็นความสมดุลและสิทธิเสรีภาพให้ดีขึ้นด้วย โดยเฉพาะใน ม.14 และ 15ขณะที่ พ.ต.อ.ศิริพงษ์ ติมุลา รองผู้บังคับการกองปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า กฎหมายฉบับเดิมใช้งานมานาน 5-6 ปีแล้ว จึงเห็นสมควรกับการยกร่างใหม่ แม้ว่าจะทำได้ดีในระดับหนึ่งแล้วแต่โดยส่วนตัว ก็ยังต้องการให้ทุกฝ่ายช่วยกันระดมความคิด และเสนอความเห็นเพื่อทำให้มีเนื้อหาที่สมบูรณ์และครอบคลุมการใช้งาน โดยยอมรับว่าในส่วนของเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน ยังคงมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ในระดับที่อ่อน ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องเร่งพัฒนา. 

No comments:

Post a Comment

Blog Archive