Sunday, December 16, 2012

ผู้ชายเหงาๆ พาไปชมซิมฯชิมชากับการบินไทย

ผู้ชายเหงาๆ พาไปชมซิมฯชิมชากับการบินไทย
ผู้ชายเหงาๆ พาไปร่วมกิจกรรมพิเศษกับแฟนเพจการบินไทยกับงาน ชมซิมชิมชา เยี่ยมชมศูนย์ฝึกนักบินด้วยเครื่องซิมมูเลเตอร์ ประสบการณ์ที่น้อยคนจะได้สัมผัส กับการฝึกระดับมาตรฐานของโลก ด้วยซิมมูเลเตอร์เครื่องบิน แอร์บัส A340-600... สวัสดีครับท่านผู้อ่าน ผู้ชายเหงาๆ ห่างเหินไปนานทีเดียวเนื่องด้วยภารกิจรัดตัว แต่เนื่องจากได้มีโอกาสพิเศษที่การบินไทยชวนไปเยี่ยมชมศูนย์ฝึกนักบินด้วยเครื่องซิมมูเลเตอร์ ทำให้ผมตกปากรับคำแบบไม่ลังเล เพราะโอกาสที่จะได้ชมพูดได้เลยว่าน้อยมากๆ และโอกาสดีๆ ที่จะได้เข้าชมมีไม่บ่อยนัก เนื่องจากซิมมูเลเตอร์ของการบินไทยคิวแน่นเสมอ ไม่เคยว่างเว้น เพราะเป็นศูนย์ฝึกที่มีมาตรฐานระดับโลก นักบินจากทุกประเทศต่างเข้ามาใช้บริการฝึกบินทดสอบประเมินผลกันเป็นประจำกิจกรรมคราวนี้เป็นการเชิญชวนของเฟซบุ๊กแฟนเพจของการบินไทย Thaiairways ที่จัดกิจกรรมพิเศษที่ชื่อว่า ชมซิมชิมชา สงสัยไหมครับว่าทำไมชมซิมแล้วต้องชิมชา ถ้าใครโดยสารเครื่องบินการบินไทยบ่อยๆ คงทราบว่าสายการบินแห่งชาติของเรามีเครื่องดื่มที่เป็นซิกเนเจอร์ดริงค์ นั่นคือ ชามะนาวอัญชัญ และชามะขาม ที่หากได้ดื่มจะรู้สึกสดชื่นแจ่มใส ทำให้การเดินทางของเรามีความสุขมากขึ้นนั่นเอง และก็เป็นที่มาที่เรานอกจากได้ชมซิมมูเลเตอร์แล้ว เราก็ได้ชิมชามะนาวอัญชัญด้วย (ส่วนตัวผมชอบเครื่องดื่มนี้มาก) ทั้งนี้ผู้โชคดีที่ได้รับเลือกทั้งหมด 20 คน จะได้เข้าชมและทดลองฝึกทำการบินกับเครื่องฝึกบินจำลอง (Simulator) ของเครื่องบินแบบแอร์บัส A340-600 ณ สำนักงานใหญ่ ถนนวิภาวดี-รังสิตเช้าตรู่วันนั้นผู้ชายเหงาๆ ก็ต้องเดินทางแสนไกลจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เดินข้ามสะพานลอยมายังบริษัทการบินไทยที่อยู่ฝั่งตรงข้าม เพื่อมายังอาคาร 5 ที่เป็นอาคารที่ตั้งของซิมมูเลเตอร์ ที่มีมูลค่าหลายร้อยล้านบาท โดยที่นี่มีซิมมูเลเตอร์ของเครื่องบินที่การบินไทยมีใช้งานแทบทุกรุ่น ตั้งแต่โบอิ้ง 737-400 โบอิ้ง 747-400 โบอิ้ง 777 Series แอร์บัส A330-300 และแอร์บัส A340-600 โดยซิมมูเลเตอร์ ที่พวกเราจะได้เขาไปลองสัมผัสกันครั้งนี้ คือ ซิมฯ ตัวล่าสุด แอร์บัส A340-600 ที่ผลิตโดยบริษัท THALES ที่จำลองเอาห้องนักบินของเครื่อง A340-600 มาแบบ 100% ทุกอย่างที่อยู่ในซิมมูเลเตอร์มีเหมือนเครื่องบินจริงทุกประการ และยังมีระบบไฮโดรลิกส์ ที่ใช้แสดงลักษณะทางกายภาพขณะกำลังทำการบิน ไม่ว่าจะเป็นการเชิดหัว กดหัว เอียงซ้าย เอียงขวา และการเขย่า จากที่ได้ฟังบรีฟก่อนเข้าซิมก็สนุกแล้ว งานนี้เราได้ผู้ใหญ่ใจดี นายธีรพล โชติชนาภิบาล รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายผลิตภัณฑ์และบริการลูกค้า ในฐานะเจ้าบ้านให้เกียรติต้อนรับสาเหตุที่นักบินการบินไทยทุกคนต้องมาฝึกกับเครื่องซิมมูเลเตอร์นั่นเป็นเพราะการบินไทยมุ่งมั่นและให้ความสำคัญกับความปลอดภัยทางการบินเป็นอันดับแรก โดยนักบินของการบินไทยทุกคนจะได้รับการฝึกจากเครื่องฝึกบินจำลอง (Simulator) และครูฝึกที่มีความเชี่ยวชาญเพื่อเพิ่มทักษะและเสริมสร้างความชำนาญในการบินและการแก้ปัญหาจากสภาพแวดล้อมหรือความผิดปกติของเครื่องบินที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในระหว่างทำการบิน เพื่อให้นักบินแต่ละคนมีคุณสมบัติตรงตามมาตรฐาน ปฏิบัติงานบนเครื่องบินโดยสารได้อย่างปลอดภัยมากที่สุด ภายในค็อคพิทจำลองการบิน ประกอบด้วย แผงควบคุมซ้ายขวา ไซด์สติ๊ก คันเร่งเครื่องยนต์ ระบบนำร่อง แผงควบคุมเครื่องยนต์ ระบบไฟฟ้า เรดาร์ตรวจอากาศ ที่นั่งกัปตัน (ซ้าย) และที่นั่งผู้ช่วยนักบิน (ขวา) และที่นั่งครูการบิน (กลางหลัง) ที่จะมีแผงควบคุมการแสดงซ้ายและขวา ใช้สำหรับป้อนข้อมูลการบิน สภาพดินฟ้าอากาศ เส้นทางการบิน สนามบินต้นทาง ปลายทาง รวมไปถึงการใส่เหตุขัดข้องต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ขณะทำการบิน เช่น ไฟไหม้เครื่องยนต์ เครื่องยนต์ดับ ไฮโดรลิกขัดข้อง ไฟฟ้าขัดข้อง สภาพอากาศเลวร้าย ทัศนวิสัยไม่ดี ครูการบินสามารถป้อนโจทย์ให้กับนักบินได้แก้ปัญหาได้ตลอดเวลา มาถึงตรงนี้คุณธีรพลถึงกับออกปากเลยว่านั่งทำงานเป็นผู้บริหารมาเป็นสิบๆ ปี ก็มีโอกาสลงมาชมซิมมูเลเตอร์แค่ 2 ครั้ง เพราะเข้าชมยากมาก คิวการใช้งานแน่นตลอด 24 ชั่วโมงสำหรับการฝึกบินวันนี้ เราได้รับเกียรติจากครูการบินของการบินไทย นักบินสุดจิต เหมโสรัจ ผู้ช่วยนักบินอาวุโส เป็นผู้ช่วยนักบินให้กับนักบินกิตติมศักดิ์ (จำเป็น) อย่างพวกเรา พร้อมทั้งช่วยอำนวยการบิน แนะนำขั้นตอนการนำเครื่องขึ้น-ลง สนามบิน โดยวันนี้เรามีต้นทางที่สนามบินสุวรรณภูมิ เนื่องด้วยเวลาที่จำกัดประมาณ 30 นาที เราจึงได้ลัดขั้นตอนที่ตามปกติแล้ว นักบินต้องทำก่อนขึ้นเครื่องนั่น คือ การทำเช็กลิสต์เพื่อตรวจความเรียบร้อย โดยครูการบินของเราติ๊ต่างว่า เราดำเนินการเรียบร้อยแล้ว และพาเครื่องมารอเทคออฟที่รันเวย์ พร้อมที่จะทะยานขึ้น เมื่อเครื่องเร่งเครื่องเต็มกำลัง ปลดห้ามล้อ เครื่อง A340-600 ก็พุ่งทะยานด้วยความเร็วเต็มที่ ระหว่างนี้จอแสดงภาพก็แสดงทางวิ่ง อาคารของสนามบินสุวรรณภูมิ แล้วความเร็วก็มีถึง V1 ที่เป็นความเร็วที่หากเกิดเหตุขัดข้องฉุกเฉินนักบินยังสามารถยกเลิกการบินฉุกเฉินได้ เมื่อความเร็วมาถึง VR (V Rotate) เป็นความเร็วที่เรียกว่า Point of No return คือ ต้องเชิดหัวขึ้นอย่างเดียว หยุดไม่ได้ เลยรันเวย์แน่นอน และความเร็วสุดท้าย คือ V2 ที่เป็นความเร็วที่เครื่องต้องยกตัวจากพื้นขึ้นฟ้านั่นเอง (คุยกับครูการบินของเราในเที่ยวนี้ทำให้รู้ว่าช่วงเวลาที่นำเครื่องขึ้นนักบินต้องมีสติ และการตัดสินใจที่เร็ว เพราะทุกอย่างเกิดขึ้นได้เร็วมาก)เราทะยานขึ้นฟ้ามาถึงความสูงประมาณ 3,000 ฟุตเหนืออ่าวไทย ครูการบินที่แสนใจดีก็เริ่มอธิบายเกี่ยวกับเครื่องควบคุมของครูฝึกด้านหลังที่เป็นระบบจอสัมผัส ว่าอยากให้นักบินแก้ปัญหาอะไร สามารถใส่ลงไปได้หมด เลยสาธิตขั้นตอนเมื่อเครื่องยนต์เกิดเพลิงไหม้ให้ดู ปัญหานี้บางทีนักบินไม่รู้ เพราะมองไม่เห็นเครื่องยนต์ แต่ผู้โดยสารมีส่วนสำคัญที่จะเป็นผู้พบเห็นความผิดปกติก่อนได้ ดังนั้นเลยสมมติว่าเครื่องยนต์ที่ 4 ไฟไหม้ เครื่องบิน (A340-600 มี 4 เครื่องยนต์) นักบินจะแก้ปัญหาและมีขั้นตอนอย่างไร ซึ่งพอใส่ปัญหาไฟไหม้ไป สัญญาณเตือน Master Alarm ก็ดังขึ้น นักบินต้องปิดสัญญาณ จากนั้นจอแสดงการทำงานเครื่องยนต์จะบอกว่าเกิดอะไรขึ้น นักบินจะต้องทำการตัดไฟฟ้า และเชื้อเพลิงที่เข้าไปที่เครื่องยนต์หมายเลข 4 จากนั้นดับเครื่อง และฉีดสารดับเพลิงเข้าไปดับไฟ แล้วจึงติดต่อหอบังคับการขอร่อนลงฉุกเฉินยังสนามบินที่ใกล้ที่สุด โดยนักบินผู้ช่วยคนเก่งของเราก็สาธิตการลงจอดฉุกเฉิน ทำได้อย่างนิ่มนวลปลอดภัยแต่เวลายังเหลือ ครูการบินเลยสาธิตการบินในสภาพอากาศเลวร้าย เช่น หมอกลงจัด ฝนตกหนัก และมีหลุมอากาศ แน่นอนว่าการบังคับเครื่องให้ร่อนลงย่อมทำได้ยากลำบากมาก แถมยังเพิ่มปัญหาที่ระบบไฮโดรลิกพังเข้าไปอีก เครื่องบินเลยไปต่อไม่ได้ ต้องมาเริ่มกันใหม่ เป็นการแก้ปัญหาเครื่องบินอยู่ในท่าการบินที่ผิดปกติ เครื่องเข้าสู่ความเร็วร่วงหล่น หรือสตอลล์ (Stall) ด้วยการเชิดหัวเครื่องขึ้นสุดแล้วหักสติ๊กไปทางขวาเต็มที่ นักบินต้องแก้สตอลล์ ด้วยการแก้ท่าทางการบิน พร้อมกับเร่งเครื่องชดเชยความเร็วที่หายไป (มาถึงตรงนี้สภาพในซิมเอียงขวา แถมยังหัวปักพื้นพาเสียวสันหลังต้องหาที่จับที่ยึดกันน่าดู) ก่อนที่จะแก้เข้าสู่ท่าการบินปกติได้ในที่สุด แล้วก็หมดเวลาในการใช้ห้องเดินออกจากซิมกันแบบมึนๆ งงๆ ตื่นเต้นๆงานนี้ต้องขอบคุณการบินไทยที่พาผู้ชายเหงาๆ ไปชมซิมชิมชา หวังว่าจะได้มีโอกาสไปเข้าซิมเครื่องบินแบบอื่นๆ หรือได้มีประสบการณ์แปลกใหม่กับสายการบินแห่งชาติของไทยอีก ในอนาคตอาจมีกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย ใครสนใจต้องติดตามในแฟนเพจ www.facebook.com/thaiairways กันต่อไปนะครับ. ผู้ชายเหงาๆ

No comments:

Post a Comment

Blog Archive