Saturday, January 26, 2013

สุทธิชัยแนะปรับตัวยุค3จีทีวีดิจิตอล

สุทธิชัยแนะปรับตัวยุค3จีทีวีดิจิตอล
              เมื่อวันที่ 24 มกราคม คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ร่วมกับเครือเนชั่น จัดสัมมนา ก้าวสู่สังคมไร้สายอย่างปลอดภัย ในหัวข้อ "อนาคตสื่อไทยเตรียมรับมือโลกยุคดิจิตอล" เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมและรับมือโลกข่าวสารที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงไป               นายสุทธิชัย หยุ่น ประธานเครือเนชั่น กล่าวปาฐกถาว่า การรับรู้ข้อมูลข่าวสารของคนกำลังจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง โดยมาจากเทคโนโลยีใหม่ๆ ทั้ง 3จี และบริการทีวีดิจิตอล ซึ่งทั้ง 2 เทคโนโลยีจะเปิดให้บริการในปีนี้ โดยชี้ว่าไม่มีใครที่จะสามารถยับยั้งเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่าง 3จี หรือโซเชียลเน็ตเวิร์ก ที่กำลังแพร่ขยายออกไปทั่วโลก               "เรากำลังเผชิญกับพายุที่มาทุกทิศทาง ซึ่งผมเรียกว่า เพอร์เฟกต์ สตรอม เรากลับไม่ได้ ต้องไปข้างหน้าอย่างเดียว ในฐานะคนทำสื่อ เราต้องเดินหน้า แล้วนำเทคโนโลยีใหม่ที่กำลังถาโถม นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ดังนั้นในปี 2556 นี้ จะเป็นปีแห่งการพลิกโฉมการรับรู้ข่าวสารในแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน โดยผู้บริโภคจะรับรู้ข่าวสารผ่าน 4 จอ คือ ทีวี คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต และโมบาย ซึ่งข่าวสารจะมีแนวโน้มส่งผ่านอุปกรณ์โมบายมากยิ่งขึ้น และตลอดเวลา"               นายสุทธิชัย กล่าวต่อว่า จากนี้เทคโนโลยีอย่างดาวเทียม เคเบิลทีวี อินเทอร์เน็ต 3จี และดิจิตอล ทีวี จะถูกหลอมรวมผ่านแพลตฟอร์มที่แตกต่าง ผู้บริโภคจะมีทางเลือกในการรับรู้ข่าวสารได้มากขึ้น ซึ่งอาจเกิดปัญหาในเรื่องความลึกของข้อมูล โดยผู้ที่จะทำหน้าที่ในการคัดกรองข้อมูลที่มีจำนวนมากก็คือคนทำสื่อ ซึ่งถือเป็นความท้าทายของคนทำสื่อยุคนี้               "บริการ 3จี เต็มรูปแบบที่จะเปิดให้บริการ ทำให้คนได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารของเครือเนชั่นในทุกนาที เรามีทัพนักข่าวมากกว่า 400 คน ที่มีทวิตเตอร์ แอคเคานท์ มีคนติดตามรวมๆ กันมากกว่า 2 ล้านคน นั่นหมายความว่า ข่าวสารจะถูกส่งไปหาผู้คนเป็นล้านๆ คนในทุกๆ ที่ ทุกๆ เวลา"               นายสุทธิชัย กล่าวต่อว่า อิทธิพลของโลกโซเชียลเน็ตเวิร์กจะส่งผลกระทบต่อการปรับตัวของสื่อในยุคนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะที่โซเชียลเน็ตเวิร์กยังสามารถสร้างจุดกระแสความไม่มีตัวตนบนโลกจริง ให้กลายเป็นคนที่มีตัวตน โซเชียลมีเดีย ยังเป็นสื่อที่มีอิทธิพล ผมให้คำจำกัดความของ ทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก ยูทูบ หรือโซเชียลเน็ตเวิร์กอื่นๆ ว่า เป็นจัตุรัสกลางเมือง ที่ใครก็สามารถมาหยุดพักเพื่อสนทนาในเรื่องต่างๆ ได้               ทั้งนี้ เครือเนชั่นมีความพร้อมทั้งบุคลากร เครื่องมือ เทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นการรุกเข้าสู่โซเชียลทีวีอย่างเต็มรูปแบบ การจัดตั้งคอนเวอร์เจนท์ นิวส์รูม ที่เป็นการหลอมรวมทุกสื่อเข้าไว้ด้วยกัน และนำข้อมูลข่าวสารไปสู่ทุกช่องทาง ทุกแพลตฟอร์ม ถึงมือผู้รับสาร ทั้งนี้ภายใต้การทำงานของคอนเวอร์เจนท์ นิวส์รูม การผสานรวมทีมข่าวของสื่อหนังสือพิมพ์และทีวีเข้าด้วยกัน ทำให้เป็นทีมข่าวที่ใหญ่ที่สุดของสื่อในปัจจุบัน               ภายหลังการปาฐกถาของนายสุทธิชัยเสร็จสิ้น  น.ส.บุษกร ธนสมบูรณ์กิจ ผอ.สำนักบริหารความปลอดภัยด้านไอที จากเอไอเอส กล่าวในงานสัมมนาก้าวสู่สังคมไร้สายอย่างปลอดภัย ในหัวข้อมหันตภัยไร้สาย ภัยร้ายที่ต้องระวัง ว่า แฮ็กเกอร์เป็นสัจธรรมในชีวิต แต่สิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือ ปัจจุบันเรายังไม่มีความตื่นตัวในการป้องกันในสิ่งง่ายๆ ที่อาจมองข้าม ยกตัวอย่างเช่น การใช้ไวไฟที่เปิดให้ใช้ฟรี ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากเราไม่ระวัง เห็นว่าเป็นของฟรี โดยไม่ดูว่า ไวไฟนั้นน่าเชื่อถือได้หรือไม่ เมื่อเปิดเข้าไปใช้โดยไม่ระวัง ข้อมูลของเราอาจถูกมิจฉาชีพดูดไปแล้ว               ด้านดร.วรัญญู สุจิวรพันธ์พงศ์ ผู้ช่วยกรรมการธนาคารอิสลาม กล่าวว่า ปัจจุบันธนาคารมีเครื่องมือป้องกันการถูกแฮ็กอย่างเป็นระบบ แต่สิ่งที่น่าห่วงที่สุดคือ ลูกค้า และประชาชนมากกว่า โดยประเด็นสำคัญที่ต้องการชี้ให้เห็นคือ การละเลยเรื่องการป้องกันสิ่งที่ใกล้ตัว เช่น การป้องกันเกี่ยวกับข้อมูลพาสเวิร์ด ตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญ เราไม่ควรใช้เลขพาสเวิร์ดที่จำง่าย หรือใกล้ตัวเกินไป มิฉะนั้นอาจมีคนมาเยี่ยมเยียนด้วยการขโมยข้อมูลทางธุรกรรมเราไปได้               เช่นเดียวกับพ.ต.อ.ญาณพล ยั่งยืน ผู้บัญชาการสำนักคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า ภัยจากอินเทอร์เน็ตมีทุกรูปแบบ ดังนั้นเราควรหาแนวทางป้องกันให้ดีที่สุดอย่างไรมากกว่า เพราะหากเราถูกโจรกรรมด้านข้อมูล เป็นเรื่องยากในการติดตามจับกุม ดังนั้นสิ่งสำคัญคือ เราไม่ควรให้ใครได้เข้าใกล้ข้อมูล หรือใช้โทรศัพท์มือถือโดยไม่จำเป็น เพราะไม่มีใครทราบว่า วันดีคืนดีเราอาจจะถูกดูดข้อมูลไปได้ทุกเมื่อ ดังนั้นสิ่งสำคัญคือ เราต้องเป็นที่พึ่งของตนเองโดยใช้เทคโนโลยีอย่างมีสติ               นายอารินทน์ แคร่า ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยี กล่าวว่า มือถือเป็นช่องโหว่ที่ถูกโจมตีได้ง่ายที่สุด เพราะมือถือไม่มีระบบป้องกันเหมือนกับคอมพิวเตอร์ทั่วไป โดยสิ่งที่เราไม่ควรทำที่สุดคือ การดาวน์โหลดเว็บแปลกปลอม หรืออีเมลแปลกปลอมที่เราไม่รู้จัก เพราะหากไปดาวน์โหลด หรือเปิดเมลดังกล่าว อาจทำให้พวกมิจฉาชีพสามารถรู้ข้อมูลคุณทุกอย่าง  ดังนั้นเราควรป้องกัน โดยเริ่มจากตัวเราด้วยวิธีง่ายๆ ด้วยการไม่เปิดรับอีเมล หรือเว็บแปลกปลอมที่เราไม่รู้ว่าเป็นของใคร               ขณะที่ นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช. กล่าวว่า กสทช.มีหน้าที่วางระบบ และวางกติกา การแก้ไขมหันตภัยไร้สาย ส่วนตัวอยากจะพูดเกี่ยวกับปัญหาภัยเชิงโครงสร้างองค์กรรัฐ โดยเฉพาะการปรับตัวเกี่ยวกับเรื่องการประสานงานของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องหากมีปัญหาเกิดขึ้น เพราะต้องยอมรับว่ากฎหมายและข้อกำหนดของแต่ละองค์กรมีความแตกต่างกัน ดังนั้นทุกฝ่ายควรปรับเข้ากัน เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาให้เร็วมากขึ้น จึงอยากเน้นย้ำในเรื่องการประสานงานของแต่ละองค์กร

No comments:

Post a Comment

Blog Archive