Sunday, January 20, 2013

เร่งศึกษาสายงานวิชาชีพไอซีที เสริมเขี้ยวเล็บบุคลากรไทย

เร่งศึกษาสายงานวิชาชีพไอซีที เสริมเขี้ยวเล็บบุคลากรไทย
 ไอซีที เดินสายศึกษาข้อมูลสายงานวิชาชีพด้านไอซีที จัดการประชุม-สัมมนารับฟังความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ หวังสร้างกรอบมาตรฐานวิชาชีพ พร้อมเพิ่มศักยภาพบุคลากรไทย...นายสมบูรณ์ เมฆไพบูลย์วัฒนา รองปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า กระทรวงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดอุตสาหกรรมไอซีทีในประเทศไทย จึงดำเนินการศึกษาและจัดกลุ่มอาชีพ/ตำแหน่งงานของบุคลากรด้านไอซีทีไว้ตั้งแต่ปี 2547 จำนวน 18 กลุ่มอาชีพ อาทิ นักวิเคราะห์ระบบ ผู้เชี่ยวชาญด้านซอฟต์แวร์ประยุกต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านซอฟต์แวร์มัลติมีเดีย ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยไอที วิศวกรซอฟต์แวร์ โปรแกรมเมอร์ เว็บมาสเตอร์ ช่างเทคนิคระบบคอมพิวเตอร์ เป็นต้นขณะที่ปัจจุบันความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงส่งผลให้กลุ่มอาชีพ/ตำแหน่งงานของบุคลากรด้านไอซีที ที่ได้ดำเนินการไว้ อาจไม่ครอบคลุมกับสถานการณ์ปัจจุบัน ดังนั้น กระทรวงไอซีทีจึงได้ดำเนินกิจกรรมการศึกษาสายงานวิชาชีพด้านไอซีที เพื่อจัดทำกรอบมาตรฐานวิชาชีพผู้เชี่ยวชาญด้านไอซีทีไทย ภายใต้โครงการเสริมสร้างศักยภาพบุคลากร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมข้อมูลและศึกษาสถานะของสายงานวิชาชีพด้านไอซีทีของประเทศไทย ที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของตลาดอุตสาหกรรมไอซีทีไทย ทั้งในปัจจุบันและอนาคต อีกทั้งยังสอดรับกับกรอบนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร พ.ศ 2554-2563 ของประเทศไทย (ICT 2020) ในการพัฒนาบุคลากรไอซีที ให้มีความรู้ ความสามารถ และความเชี่ยวชาญ ตามมาตรฐานในระดับสากลโดยการดำเนินกิจกรรมดังกล่าว กำหนดให้มีการจัดประชุมสัมมนา รับฟังความคิดเห็นจากบุคลากรที่เกี่ยวข้องด้านไอซีที เพื่อจัดทำสายงานวิชาชีพด้านไอซีทีขึ้นทั้งหมด 3 ครั้ง ครั้งแรกจัดที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2556 อีกสองครั้งจัดที่ จ.เชียงใหม่ และ จ.นครราชสีมา เพื่อนำความคิดเห็นและคำแนะนำจากวิทยากรและผู้ร่วมประชุมสัมมนาฯ ซึ่งเป็นผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชนที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับไอซีที และใช้ระบบไอซีทีเป็นเครื่องมือหลักในการดำเนินธุรกิจ มาใช้เป็นข้อมูลส่วนหนึ่งในการพัฒนาสายงานวิชาชีพ และมาตรฐานวิชาชีพบุคลากร โดยมุ่งให้เกิดการเสริมสร้างศักยภาพของบุคลากร ไอซีทีไทย ให้สามารถแข่งขันและรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต“การรับฟังความคิดเห็นการจัดทำสายงานวิชาชีพด้านไอซีที จากกลุ่มผู้ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบอาชีพ หรือดำรงตำแหน่งงานด้านไอซีที ทั้ง 3 ครั้งนั้น ถือเป็นแนวทางหนึ่งที่สำคัญในการกำหนดทิศทางการพัฒนาสายงานวิชาชีพด้านไอซีทีไทยร่วมกัน ให้มีมาตรฐานการปฏิบัติงานเป็นมาตรฐานเดียวกันทุกองค์กร และเป็นที่ยอมรับในแวดวงไอซีที ทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี 2558 ต่อไป” นายสมบูรณ์ กล่าว.   

No comments:

Post a Comment

Blog Archive