Thursday, January 17, 2013

มช.เจ๋ง!ผลิตเจลยาชาจากข้าว

มช.เจ๋ง!ผลิตเจลยาชาจากข้าว
                          จากเหตุผลที่ประเทศไทยต้องนำเข้าเจลยาชาที่ใช้สำหรับด้านทันตกรรมในแต่ละปีจำนวนมหาศาล ทำให้ รศ.เภสัชกรหญิง ดร.ศิริพร โอโกโนกิ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมคณะทำการวิจัยข้าวไทยเพื่อผลิตเจลผสมยาชาในช่องปาก ปรากฏว่าประสบสำเร็จเป็นอย่างดี มีประสิทธิภาพเทียบเท่าที่นำเข้าต่างประเทศ แต่ราคาถูกกว่าถึง 10 เท่า ล่าสุดกำลังทดลองว่าอาจจะมีผลข้างเคียงหรือไม่                            รศ.เภสัชกรหญิง ดร.ศิริพร บอกว่า ที่ผ่านมาการใช้เจลยาชาของทันตแพทย์ส่วนใหญ่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศที่มีราคาสูง จึงมองว่าประเทศไทยมีการทำนาปลูกข้าวมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ภายในเมล็ดข้าวมีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นคาร์โบไฮเดรต ซึ่งเป็นสารประกอบโพลิเมอร์ตามธรรมชาติที่ดี ไม่มีพิษและสลายตัวได้ในร่างกาย น่าจะสามารถนำมาดัดแปลงเพื่อให้ได้สารก่อเจลที่เหมาะสม เพื่อใช้ประโยชน์ทางทันตกรรมได้                           จากนั้นจึงวิจัยข้าวไทย 4 สายพันธุ์ คือ เป็นพันธุ์ข้าวหอมมะลิ กับพันธุ์เสาไห้ นอกจากนี้มีข้าวเหนียวพันธุ์สันป่าตองกับข้าวเหนียวพันธุ์ กข.6 โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก.ใช้เวลาวิจัยราว 1 ปี พบว่าข้าวไทยมีคุณสมบัติที่จะทำเจลผสมยาชาที่ใช้ในช่องปากได้เป็นอย่างดี เบื้องต้นไม่ก่อให้เกิดการอักเสบต่อเซลล์บุช่องปากแต่อย่างใด                           "ผลการวิจัยพบว่าเมล็ดข้าวเหนียว 1 กก. สามารถดัดแปลงผลิตเป็นสารเพิ่มความหนืดหรือสารก่อเจลได้ 10 เท่า ทำให้ต้นทุนการผลิตเจลผสมยาชาถูกมาก สมมุติว่าข้าวราคา กก.ละ 50 บาท สามารถผลิตเจลได้ 20 กระปุกขนาดเล็ก 5 กรัม เฉลี่ยต้นทุนไม่ถึงกระปุกละ 20 บาท เมื่อร่วมค่าเทคโนโลยี ค่าแรงต้นทุนราว 40 บาทขณะที่นำเข้าจากต่างประเทศตกกระปุกละ 400 บาท ถูกกว่า 10 เท่า หากต่อยอดจะเกิดประโยชน์ต่อวงการทันตแพทย์อย่างมหาศาล เพราะสามารถลดการนำเข้าจากต่างประเทศไทย และอีกส่วนหนึ่งถือเป็นการต่อยอดให้ข้าวไทยเพิ่มมูลค่าอีกด้วย" รศ.เภสัชกรหญิง ดร.ศิริพร กล่าว                            นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บอกด้วยว่า งานวิจัยชิ้นนี้หากนำไปต่อยอดจะก่อให้เกิดประโยชน์หลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นวงการเภสัชกรรม ทันตกรรม ภาคเอกชนผู้ผลิตแป้งข้าว ผู้ป่วยที่ต้องการรักษาด้านทันตกรรม และกลุ่มผู้ปลูกข้าว เพราะงานวิจัยชิ้นนี้จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้แก่วัตถุดิบทางการเกษตร รวมถึงจะลดการสูยเสียเงินที่ต้องนำเข้าเจลชนิดนี้มาจากต่างประเทศได้อีกทางหนึ่ง                           ด้าน ชยารพ สุพรรณชาติ อาจารย์ประจำภาควิชาศัลยศาสตร์และแม็กซิลโลเฟเชียล คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บอกว่า เจลยาชาจากข้าวไทยนั้นได้ทดลองกับอาสาสมัครจำนวน 40 คน เมื่อใช้ทาในช่องปากแล้วจะออกฤทธิ์ภายใน 1 นาที และอยู่ได้ถึง 15 นาที เหมาะที่จะทาในช่องปากกรณีที่คนป่วยจะฉีดยาชาเข้าเหงือกเพื่อทอนฟัน จะช่วยให้ลดความปวดได้ และทากรณีที่จะขูดหินปูน ซึ่งเบื้องต้นยังไม่พบว่าจะเกิดอันตรายหรือผลข้างเคียง แต่เนื่องจากข้าวมีคาร์โบไฮเดรต ที่อาจจะก่อน้ำตาลได้ จึงทดลองต่อไปว่าหากใช้แล้วจะทำให้ฝันผุหรือไม่                              ขณะที่ รศ.ดร.พีรเดช ทองอำไพ ผู้อำนวยการ สวก.บอกว่า ในช่วงที่ผ่านมาได้สนับสนุนงบประมาณด้านการวิจัยให้แก่นักวิจัย ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่หลายโครงการ รวมถึงการวิจัยข้าวไทยเพื่อผลิตเจลยาชาใช้สำหรับในช่องปากอีกอีกด้วย ซึ่งโครงการนี้ประสบผลสำเร็จไปด้วยดี คาดว่าในอนาคตจะสามารถต่อยอดเพื่อผลิตในเชิงพาณิชย์ และจะก่อให้เกิดประโยชย์ในวงการทันตแพทย์อีกด้วย                           ก็นับเป็นผลงานวิจัยที่น่าสนใจอีกชิ้นหนึ่ง หากต่อยอดได้ไม่เพียงแต่จะเกิดประโยชน์ต่อวงการทันตแพทย์เพียงอย่างเดียว หากแต่สามารถลดการนำเข้าจากต่างประเทศ และมีประโยชน์ต่อชาวนาที่จะทำให้ข้าวไทยมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอีกด้วย     -------------------- (ใช้ข้าวผลิตเจลยาชาในช่องปาก นวัตกรรมใหม่ฝีมือนักวิจัย มช. : โดย...ดลมนัส  กาเจ)      

No comments:

Post a Comment

Blog Archive