Saturday, January 26, 2013

ชะลอมจักสานเสริมรายได้บ้านหัวทุ่ง

ชะลอมจักสานเสริมรายได้บ้านหัวทุ่ง
                          อานิสงส์จากการเป็นหมู่บ้านที่ได้รับรางวัลในโครงการประเมินศักยภาพชุมชนในการจัดการมลพิษหมอกควันและการเผาในที่โล่ง "ชุมชนมาตรฐาน หมู่บ้านปลอดการเผาปี 2555" ของจ.เชียงใหม่ จากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสำหรับชุมชน "บ้านหัวทุ่ง" ในต.เชียงดาว อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ส่งผลให้วันนี้ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านในชุมชนที่นี่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทั้งเรื่องสุขภาพอนามัยดี มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการประกอบอาชีพเสริมอย่างเช่นการทำชะลอมจักสานจากไผ่                           "การทำชะลอมจักสานจากไม้ไผ่ เป็นอาชีพเสริมรายได้ของชาวบ้านที่นี่ โดยใช้เวลาว่างจากการทำไร่ ทำสวน หรือช่วงกลางคืนก็มารวมกลุ่มทำจักสานกัน ก็จะเป็นรายได้อีกทางหนึ่ง บางคนก็ทำทั้งวัน วันละประมาณ 20-30 ลูก ส่งขายลูกละ 7 บาท โดยมีพ่อค้ามารับซื้อถึงบ้านทุกวันจันทร์ของสัปดาห์ ลองคิดดูซิแต่ละเดือนแต่ละคนก็มีรายได้ไม่น้อยทีเดียว"                           สุขเกษม สิงห์คำ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 14 แห่งบ้านหัวทุ่ง ต.เชียงดาว มองอาชีพเสริมรายได้จากงานหัตถกรรมฝีมือชาวบ้านอย่างชะลอมจักสานจากไม้ไผ่ ซึ่งเป็นงานฝีมือที่ชาวบ้านหัวทุ่งได้ทำกันมาหลายชั่วอายุคน โดยชาวบ้านส่วนใหญ่ที่นี่มีอาชีพหลักคือการทำไร่ ทำสวน และปลูกพืชผักต่างๆ เพื่อเป็นรายได้เลี้ยงครอบครัว แต่ทว่ากลับไม่มีภาชนะใส่ผลผลิตจากไร่เพื่อนำไปจำหน่ายในท้องตลาด                           "อาชีพหลักของชาวบ้านหัวทุ่ง คือการทำไร่ข้าวโพด ทำสวนลำไย ปลูกกาแฟและพืชผักชนิดต่างๆ เพื่อเป็นรายได้หลัก โดยมีตลาดหลักอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ แต่ปัญหาที่ผ่านมาคือภาชนะใส่ผลผลิตที่เก็บจากไร่เพื่อนำไปส่งขายในตัวเมืองเชียงใหม่นั้นต้องซื้อชะลอมไม้ไผ่กลับมาด้วย ตอนนั้นอันละ 1 บาทแต่ความแข็งแรงคงทนไม่มี ต่อมาชาวบ้านก็เห็นว่าเราน่าจะทำเองได้ วัตถุดิบไม้ไผ่บ้านเราก็มีพร้อม"                           ผู้นำชุมชนคนเดิมย้อนที่มาของชะลอมจักสานจากไผ่ ก่อนจะมารวมกลุ่มกันทำเพื่อใช้กันเองในครัวเรือน และหากมีคนสนใจก็ผลิตจำหน่ายเพื่อเป็นรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง ซึ่งขณะนี้ได้รับความสนใจจากคนในชุมชนกันมากโดยเฉพาะแม่บ้านมักจะใช้เวลาว่างรวมกลุ่มทำกัน แต่หากช่วงใดที่มีออเดอร์สั่งเข้ามามากก็จะแจกจ่ายให้ไปทำเองที่บ้านเสร็จแล้วก็นำมาส่งยังที่ทำการกลุ่ม จากนั้นจะมีพ่อค้าแม่ค้ามารับไปขายต่ออีกทอดหนึ่ง                           ส่วนวัตถุดิบที่ใช้ทำจักสานนั้น สุขเกษมบอกว่าเป็นต้นไผ่ที่คนในชุมชนช่วยกันปลูกบนเนื้อที่กว่า 40 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ของหน่วยพัฒนาเคลื่อนที่ 32 สำนักพัฒนาภาค 3 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา(นทพ.) ได้อนุเคราะห์พื้นที่ดังกล่าวให้ปลูกไผ่เพื่อให้ชาวบ้านในชุมชนนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ส่วนการตัดไผ่นั้นจะมีคณะกรรมการชุมชนเป็นผู้พิจารณาว่าจะตัดในช่วงใด เวลาใดถึงจะเหมาะสม โดยตัดปีละ 2-3 ครั้งเท่านั้นจากนั้นก็นำการเก็บไว้เพื่อนำมาทำจักสานต่อไป                           "ป่าไผ่เป็นของชุมชนก็จริง แต่ใช่ว่าใครจะเข้ามาตัดได้ จะต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการชุมชนเท่านั้น ปีหนึ่งเราจะตัดแค่ 2-3 ครั้ง ครั้งละหลายตันแล้วนำมากองเรียงกัน ใครอยากได้เอาไปทำชะลอมจักสานก็เอาไป โดยไม่ต้องซื้อ เมื่อเราไม่ซื้อวัตถุดิบ ชะลอมเราจึงขายถูกได้อันละ 7 บาทเท่านั้นเอง ใส่พืชผักได้หลายกิโล ส่วนหน่อไผ่เราห้ามตัดเด็ดขาดเพื่อปล่อยให้มันเติบโตต่อไป" สุขเกษมกล่าวทิ้งท้าย                           ชะลอมจักสานจากไผ่ ฝีมือของชาวบ้านหัวทุ่ง นับเป็นผลิตภัณฑ์เด่นของชุมชน ด้วยผลอานิสงส์จากการหยุดเผาป่า อันนำมาซึ่งอาชีพและรายได้ให้คนในชุมชนได้เป็นอย่างดี สนใจผลิตภัณฑ์โทร.08-7995-8104    --------------------   ขั้นตอนการทำชะลอมจักสานจากไผ่                           ทองหล่อ บุญป้อ สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เชียงดาวและกรรมการชุมชนบ้านหัวทุ่ง ซึ่งรับผิดชอบดูแลกลุ่มการทำชะลอมจักสานจากไผ่อธิบายขั้นตอนการทำ โดยนำวัสดุที่ใช้ ประกอบด้วยไม้ตอกไม้ไผ่กว้างประมาณ 0.4 เซนติเมตร  ยาว 50 เซนติเมตร จำนวน 15 เส้น ไม้ตอกขนาดเส้นเล็กกว้าง 0.2 เซนติเมตร ยาว 50 เซนติเมตร 1 เส้น สีย้อมผ้าที่ต้องการ จากนั้นนำไม้ที่จะเอามาสานไปย้อมสี  ให้เป็นสีต่างๆ ตามที่ต้องการ อาจจะเป็นสีเขียว เหลือง แดง หรือว่าสีอะไรก็แล้วแต่ที่ชอบ แล้วนำไม้ที่ย้อมสีเสร็จ มาสานโดยใช้ไม้ตอก 2 เส้น วางไขว้เป็นตัว X นำไม้ตอกอีก 2 เส้นสานขัดด้านบนและด้านล่าง นำไม้ตอกสานขัด 3 ทิศทางให้ได้ด้านละ 4 เส้น รวมเป็นไม้ตอกทั้งหมด 12 เส้น                           จะเห็นว่าไม้ตอกทุกเส้น จะขัดกันธรรมดา ยก 1 ข้าม 1 จะได้รูปหกเหลี่ยมเป็นจุดศูนย์กลาง 1 รูปและมีรูปหกเหลี่ยมล้อมรอบ จำนวน 6 รูป การขึ้นเป็นตัวชะลอม ให้เลือกจับมุมใดมุมหนึ่งแล้วนำไม้ตอกสานขวางจนรอบเป็นวงกลม ปลายไม้ตอกที่รอบให้ทับซ้อนกับจุดเริ่มต้นวนจนหมดความยาวของไม้ตอก แล้วใช้ไม้ตอกสานลักษณะเดียวกันอีก 2 เส้นโดยรอบ จะได้ชะลอมขนาดย่อม นำไม้ตอกเส้นเล็กสานขัดรอบบนสุดกันหลุด เท่านี้ก็เสร็จสมบูรณ์   -------------------- ('ชะลอมจักสาน' ฝีมือชาวบ้านหัวทุ่ง เสริมรายได้ - มุ่งใช้สอยในครัวเรือน : โดย...สุรัตน์ อัตตะ)    

No comments:

Post a Comment

Blog Archive