Thursday, January 17, 2013

ชีววิธีจัดการศัตรูพืช

ชีววิธีจัดการศัตรูพืช
                          การใช้สารเคมีในการเกษตรถือเป็นที่นิยมมาในกลุ่มเกษตรกรมากในปัจจุบัน เนื่องจากสามารถกำจัดศัตรูพืชอย่างได้ผล และรวดเร็ว นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายที่นำมาจัดหาสารเคมีก็สูงด้วยเช่นกัน ด้วยเหตุนี้เองศูนย์วิจัยเกษตรพื้นที่สูงเชียงราย อ.แม่สรวย จ.เชียงราย จึงได้ร่วมกับศูนย์วิจัยควบคุมศัตรูพืชโดยชีวินทรีย์แห่งชาติ ภารกิจบริหารจัดการผลงานวิจัย สำนักคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในการส่งเสริมเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการควบคุมศัตรูพืชโดยใช้ชีววิธีในการจัดการทำให้เป็นการลดการใช้สารเคมีและทำให้ผลผลิตที่ได้ปลอดภัยการจัดการศัตรูพืช                           รศ.ดร.วิวัฒน์ เสือสะอาด ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยควบคุมศัตรูพืชโดยชีวินทรีย์แห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า การนำแมลงและเชื้อรามากำจัดแมลงศัตรูพืช ได้มีการวิจัยในประเทศไทยมากว่า 40 ปีแล้ว แต่ยังไม่มีผู้ที่นำมาใช้อย่างจริงจัง สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ จึงได้เห็นถึงความสำคัญ โดยที่ผ่านมา วช.ได้เข้ามาแนะนำในการใช้ชีววิธีในการกำจัดแมลงศัตรูพืชให้กับเกษตรกร และผู้นำทางเกษตรกร ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพื้นที่สูงเชียงราย อ.แม่สรวย จ.เชียงราย ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก                           "ในช่วงแรกๆ ที่ได้เสนอชีววิธีให้เกษตรกรไม่ได้รับการยอมรับ เนื่องจากเห็นผลช้า ต่อมากลุ่มผู้ผลิตกาเแฟในพื้นที่ดอยช้าง อ.แม่สรวย จ.เชียงราย เห็นความสำคัญการใช้ชีววิธีจนไม่ต้องพิ่งสารเคมีอีกต่อไป ทำให้กาแฟดอยช้างมีราคาที่สูงขึ้น เนื่องจากเป็นผลิตพืชปลอดภัย"                           ผู้อำนวยการศูนย์เผยอีกว่า สำหรับแมลงที่ใช้ในการจัดการกับศัตรูพืชนั้นมีหลากหลายชนิดขึ้นอยู่กับว่าเกษตรกรได้ปลูกพืชชนิดใดและศัตรูของพืชชนิดนั้นคืออะไร เช่น แมลงเบียนหนอนกระทู้ผัก แมลงหางหนีบสีดำ แมลงหางหนีบสีน้ำตาล มวนตัวห้ำอีแคนโคน่า ด้วงเต่าลาย (เต่าทอง) และการใช้เชื้อรา ซึ่งมีทั้งเชื้อราขาว และเชื้อราเขียว สามารถกำจัดแมลงศัตรูพืชได้โดยไม่ทำให้เกิดผลเสียกับผลผลิตและยังป้องกันไม่ให้แมลงศัตรูพืชกลับมาได้อีก อีกทั้งยังสามารถเพาะพันธุ์แมลงสำหรับกำจัดศัตรูพืชและเชื้อราไว้จำหน่ายเพื่อเป็นรายได้อีกทางหนึ่ง                           ขณะที่ สมเดช วงศ์ชัยพานิชย์ หัวหน้าศูนย์การเรียนรู้บ้านนาโต่ วิทยาลัยเกษตรและการเรียนรู้จังหวัดเชียงรายยอมรับว่าการให้ความรู้กับผู้ที่สนใจในการใช้ชีววิธีในการจัดการกับศัตรูพืชเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ให้ให้ได้ผลผลิตที่ดีโดยไม่ต้องพึ่งพาสารเคมี ซึ่งที่ผ่านมาศูนย์วิจัยควมคุมศัตรูพืชโดยชีวินทรีย์แห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ได้เข้ามาให้ความรู้กับผู้ที่สนใจอย่างต่อเนื่อง                            "สำหรับที่ศูนย์การเรียนรู้บ้านนาโต่ ได้นำความรู้ที่ได้จากการอบรมจากศูนย์วิจัยควมคุมศัตรูพืชโดยชีวินทรีย์แห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มาสอนให้นักศึกษาเพื่อจะได้สามารถถ่ายทอดความรู้ให้ท้องถิ่นได้ ซึ่งในอนาคตคาดว่าการใช้ชีววิธีจะต้องแพร่หลายอย่างแน่นอน"                           ด้าน สุกัญญา ธีระกูรณ์เลิศ ผู้อำนวยการภารกิจบริหารจัดการผลงานวิจัย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดการสัมมนา "การสร้างเครือข่ายใช้ศัตรูธรรมชาติเพื่อการผลิตพืชปลอดภัย" ว่าการนำความรู้เกี่ยวกับชีววิธีเพื่อลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรและเพิ่มความปลอดภัยให้ผู้บริโภคเป็นนโยบายที่ วช.ให้ความสำคัญมาโดยตลอด ที่ผ่านมามีการดำเนินการมาแล้วหลายพื้นที่ ซึ่งก็ได้รับการตอบรับจากเกษตรกรเป็นอย่างดี                           "อย่างที่ จ.กาญจนบุรี เราก็ไปส่งเสริมชีวิวิธีให้เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยอินทรีย์และมันสำปะหลัง ส่วนที่ จ.นครราชสีมา ก็มีหลายอำเภอ ซึ่งก็ประสบผลสำเร็จอย่างดียิ่ง อย่างวันนี้เราก็มาส่งเสริมให้กับกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟดอยช้าง ซึ่งก็ได้รับการตอบรับจากเกษตรกรเป็นอย่างดีเช่นกัน" สุกัญญา กล่าวทิ้งท้าย                           การจัดการกับศัตรูพืชการโดยใช้ชีววิธี นับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของเกษตรกรในการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคที่ต้องการบริโภคอาหารปลอดภัย ปราศจากสารเคมีตกค้าง ที่สำคัญยังสามารถเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรอีกด้วย     -------------------- (สภาวิจัยใช้ 'ชีววิธี' จัดการศัตรูพืช ลดต้นทุน-เพิ่มผลผลิตการเกษตร : โดย...ณัฐวัตร ลาพิงค์)      

No comments:

Post a Comment

Blog Archive