Tuesday, January 22, 2013

ประดิษฐ์เครื่องซักล้างเสื่อแทนคน

ประดิษฐ์เครื่องซักล้างเสื่อแทนคน
                          จากอดีตจนปัจจุบันควาามยาวและขนาดของเสื่อผืนขนาดใหญ่ที่ใช้บริการอยู่ตามวัดวาอารามต่าง ๆ นั้นได้กลายเป็นปัญหาสำคัญในการซักล้างทำความสะอาดที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เนื่องจากการซักล้างเสื่อประเภทนี้จำเป็นต้องใช้แรงงานคนเท่านั้น และที่สำคัญใช้เวลานานและการทำความสะอาดไม่ทั่วถึง ด้วยเหตุนี้ทำให้กลุ่มนักศึกษาสาขาช่างเชื่อมโลหะ วิทยาลัยเทคนิคอุตรดิตถ์ ซึ่งประกอบด้วย มงคล อินศรี, อนุรักษ์ นุชอยู่ และอธิวัฒน์ มั่นกำเนิด โดยมี อ.ประจวบ ปั้นจาด เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา มีแนวคิดที่จะหาเครื่องทุ่นแรงเพื่อมาช่วยทำความสะอาดเสื่อดังกล่าว                           "พวกผมไปเห็นเสื่อตามวัดต่างๆ สกปรกมาก บางผืนก็ไม่เคยซักเลยมาตั้งแต่ต้นหรือการซักแต่ละครั้งก็ใช้คนซัก ลำบากมาก เพราะเสื่อผืนใหญ่และยาว ก็เลยมาคิดว่าน่าจะคิดประดิษฐ์เครื่องซักเสื่อเพื่อทดแทนแรงงานคนและช่วยทุ่นแรง จึงได้ร่วมกับเพื่อนมาคิดทำโครงงาน โดยมีอาจารย์ประจวบ(ปั้นจาด)คอยให้คำปรึกษา ซึ่งก็ใช้เวลาลองผิดลองถูกอยู่นานเป็นปีเหมือนกัน ในที่สุดก็ประสบความสำเร็จเป็นเครื่องซักล้างทำความสะอาดอย่างที่เห็นอยู่ในขณะนี้"                           มงคล อินศรี หัวหน้าทีมนักประดิษฐ์ ย้อนที่มาของเครื่องซักล้างทำความสะอาดเสื่อ ซึ่งเป็นผลงานนวัตกรรมดีเด่นที่ได้รับรางวัลชนะเลิศประเภท 1 นวัตกรรมเพื่อการพัฒนา จากโครงการประกวดแข่งขันผลงานนักศึกษาสถาบันอาชีวศึกษาในกลุ่มภาคเหนือ จัดโดยของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) กระทรวงศึกษาธิการ ที่ จ.นครสวรรค์ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2555 ที่ผ่านมา                            รายละเอียดของเครื่องซักล้างดังกล่าวนี้เป็นระบบการทำงานด้วยหัวฉีด มีปริมาณน้ำที่ใช้แต่ละครั้งอยู่ระหว่าง 30-60 ลิตร ใช้ขนาดเสื่อกว้าง 93-110 เซนติเมตร และยาว 20-30 เมตร มีน้ำหนักประมาณ 12 กิโลกรัม โดยมีพิกัดเวลาต่ำสุด 5 รอบ/นาที และสูงสุด 15 รอบ/นาที ส่วนน้ำหนักของเครื่องนั้นประมาณ 80 กิโลกรัม สำหรับน้ำที่ใช้แล้วก็สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ด้วยการนำไปรดน้ำต้นไม้                           "เครื่องซักล้างที่คิดค้นขึ้นมานี้สามารถใช้ได้กับเสื่อทุกประเภท ทั้งเสื่อกก เสื่อพลาสติกและเสื่อพลาสติกผสมผ้าฝ้าย เพียงแต่ว่าเสื่อละชนิดอาจใช้ความเร็วรอบในการซักที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับวัตถุดิบที่ใช้ในการทอ อย่างเสื่อกกใช้เวลาประมาณ 5-10 รอบ/นาที เสื่อพลาสติก 10-14 รอบ/นาที ส่วนเสื้อพลาสติก+ผ้าฝ้ายจะใช้จำนวนรอบเยอะหน่อยประมาณ 15-29 รอบ/นาที"                           มงคลอธิบายถึงวิธีการใช้งานว่าเริ่มจากนำน้ำสะอาดหรือน้ำประปาใส่ลงไปในถังให้ได้ระดับที่ต้องการ หรือประมาณ 3 ใน 4 ของขนาดถัง จากนั้นนำเสื่อที่เตรียมไว้ต้องการซักล้างประกอบเข้ากับลูกกลิ้งวางลงในถัง แล้วทำการม้วน จากนั้นก็เปิดสวิตช์มอเตอร์เพื่อให้เครื่องทำงาน พร้อมปรับความเร็วตามต้องการประเภทของเสื่อ พร้อมกับเปิดระบบทำความสะอาด โดยเลือกระบบออโต้ จนกว่าจะล้างคราบสกปรกออกจากเสื่อทั้งหมด จากนั้นก็ปิดสวิตช์มอเตอร์เพื่อนำเสื่อออกจากเครื่องแล้วนำไปผึ่งแดดให้แห้งต่อไป                           "การซักล้างขึ้นอยู่กับความสกปรกของเสื่อ อาจจะครั้งเดียวหรือ 2 ครั้งก็ได้ โดยใช้น้ำเปล่าในการซักล้างจะไม่ใช้ผงซักฟอกร่วมด้วย เพราะระบบไม่ได้ออกแบบมาให้ใช้กับผงซักฟอก ซึ่งต่อไปอาจจะพัฒนาไปถึงจุดนั้นพร้อมกับการติดตั้งตู้อบแห้งฆ่าเชื้อ ไม่จำเป็นต้องนำไปตากแดดอีก ส่วนต้นทุนการผลิตเครื่องนี้อยู่ที่ประมาณ 1.5 หมื่นบาท"                           เครื่องซักล้างทำความสะอาดเสื่อ นับเป็นนวัตกรรมเด่นที่เป็นผลงานของนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคอุตรดิตถ์ การันตีด้วยรางวัลชนะเลิศประเภทนวัตกรรมเพื่อการพัฒนา ข้อดีช่วยทุ่นแรง ใช้งานง่ายและมีต้นทุนการผลิตที่ไม่แพงมากนัก สนใจชมสิ่งประดิษฐ์ดังกล่าวได้ในงานวันนักประดิษฐ์ประจำปี 2556 จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.)ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ณ อิมแพค ฟอรั่ม เมืองทองธานี ระหว่างวันที่ 2-5 กุมภาพันธ์ 2556     -------------------- (ประดิษฐ์ 'เครื่องซักล้างเสื่อ' แทนคน นวัตกรรมเด่นผลงานนศ.เมืองลับแล : โดย...สุรัตน์ อัตตะ)      

No comments:

Post a Comment

Blog Archive