Monday, January 14, 2013

ปรับพันธุ์ไหมอีรี่เพิ่มขนาดทนร้อน

ปรับพันธุ์ไหมอีรี่เพิ่มขนาดทนร้อน
                          "ไหมอีรี่" มีต้นกำเนิดมาจากประเทศอินเดีย นำเข้ามาในประเทศไทยก่อนปี 2523 เป็นไหมป่าชนิดหนึ่งที่สามารถผลิตเส้นใยธรรมชาติได้โดยปราศจากการใช้สารเคมี นิยมเลี้ยงในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะไหมอีรี่กินใบละหุ่ง ใบมันสำปะหลังเป็นอาหาร เพาะเลี้ยงได้ดีคล้ายกับการเพาะเลี้ยงไหมบ้าน แต่ง่ายและประหยัดแรงงานกว่ามาก อีกทั้ง เพาะเลี้ยงได้ตลอดทั้งปี ทนโรค ทนแมลงศัตรู นอกจากนี้ ในกระบวนการเพาะเลี้ยงไม่มีการใช้สารเคมีใดๆ จึงเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีโปรตีนสูง                           อย่างไรก็ดี เนื่องจากปัญหาสภาวะโลกร้อน ทำให้ไหมอีรี่เจอปัญหาติดโรคและตายเพราะความร้อน เหตุนี้ทำให้ รศ.ดร.ศิวิลัย สิริมังครารัตน์ อาจารย์ภาควิชาพืชศาสตร์และทรัพยากรการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) และทีมงาน ร่วมกันพัฒนาวิจัยปรับปรุงเทคนิคในการเพาะเลี้ยงให้ได้ไหมอีรี่ที่ทนร้อนมากได้ อีกทั้ง ได้พัฒนาเทคนิคให้ได้ขนาดของรังไหมที่ใหญ่ขึ้น เป็นไหมจัมโบ้                           รศ.ดร.ศิวิลัย กล่าวว่า ไหมทนร้อนถือว่าเป็นมิติใหม่ระดับโลก และของประเทศไทย จากการสืบค้นข้อมูล ณ ปัจจุบัน ยังไม่มีรายงานว่า มีนักวิจัยพัฒนาไหมทนร้อนจากไหมอีรี่ และจากรายงานระบุว่า ปี 2100 อุณหภูมิความร้อนของโลกจะเพิ่มขึ้น 1.1%-6.4 % และจากที่ต่างประเทศเพาะเลี้ยงไม่ประสบความสำเร็จ ได้ขอให้ มข.ไปช่วยเหลือ อีกประการในช่วงฤดูร้อน ถ้าหากดูแลไม่เป็นหรือไม่ใส่ใจเท่าที่ควร ไหมจะตายแต่ทีมวิจัยเราสามารถพัฒนาจนเพาะเลี้ยงได้ โดยคิดค้นเทคนิคในการเลี้ยงนำไปส่งเสริมชาวบ้าน                           "คณะวิจัยมองว่าต้องต่อยอดและศึกษาพัฒนาเพื่อให้งานตรงนี้ไปสู่ชุมชนอย่างถาวร และยั่งยืน กระทั่งไปสู่ชุมชนระดับโลก สำหรับเทคนิคการเลี้ยงไหมทนร้อน จะเป็นการศึกษาการใช้อุณหภูมิเข้ามาควบคุม การเลี้ยงตั้งแต่รุ่นแรก จนถึงรุ่นปัจจุบันค่อนข้างจะนิ่ง แต่คณะวิจัยต้องการจะพัฒนาต่อ เพื่อให้ดีที่สุดโดยจะเอา 2 เทคนิคมาเชื่อมกัน นั่นคือ การทนร้อนและการทำให้เป็นไหมจัมโบ้ ที่มีขนาดฝักไหมที่ใหญ่"                           นอกจากนี้ ในด้านการแปรรูปที่ถือเป็นผลิตภัณฑ์อันโดดเด่น คือดักแด้ไหมอีรี่ทอดกรอบกระเทียมพริกไทย การนำฝักไหมมาทำเครื่องสำอาง ทำปุ๋ย โดยเฉพาะเสื้อผ้าไหมอีรี่ที่มีความพิเศษต่างจากผ้าไหมทั่วไป กล่าวคือ ผ้าไหมอีรี่มีลักษณะเนื้อผ้าคล้ายผ้าฝ้ายแต่มีความแวววาวคล้ายไหมบ้าน เมื่อนำไปสวมใส่ในหน้าร้อนจะระบายอากาศได้ดี ขณะที่ในหน้าหนาวก็จะให้ความอบอุ่นได้อย่างดี                             สำหรับการส่งเสริมไปสู่เกษตรกร รศ.ดร.ศิวิลัย กล่าวว่า ได้มีการจัดตั้งหมู่บ้านต้นแบบเพาะเลี้ยงไหมอีรี่ มีการขยายการเลี้ยงไปทั่วประเทศ ส่งเสริมการขาย ส่วนระดับอุตสาหกรรมโรงงานทำเป็นผลิตภัณฑ์ส่งออก ขณะนี้ตลาดมีความต้องการรังไหมและเส้นไหมอีรี่ เป็นจำนวนมาก ทำให้ราคาเส้นไหมเพิ่มสูงขึ้นจากเดิม ราคา 550-750 บาท ปัจจุบันพุ่งขึ้นถึง 1,400-2,000 บาท โดยจะขึ้นกับฤดูการและฝีมือ อีกทั้ง ราคาของรังไหมก็เพิ่มสูงขึ้นด้วย จากเดิมกิโลกรัมละ 50 บาท ปัจจุบันราคา 280 บาท สำหรับพื้นที่มีการเลี้ยงกันอย่างแพร่หลาย อาทิ อุทัยธานี นครสวรรค์ กาฬสินธุ์ ที่ อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น เช่นเดียวกับที่หมู่บ้านต้นแบบ ซึ่งอยู่ที่ อ.เมืองพล จ.ขอนแก่น                           รศ.ดร.ศิวิลัย กล่าวในตอนท้ายว่า ขณะนี้งานวิจัยดังกล่าวได้ยื่นขอจดทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว สำหรับเกษตรกรที่สนใจมองเห็นลู่ทางในการประกอบอาชีพจากไหมอีรี่ ติดต่อไปได้ที่ กลุ่มวิจัยการเพาะเลี้ยง พัฒนาผลิตภัณฑ์ไหมป่า และแมลงสำคัญทางเศรษฐกิจเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ม.ขอนแก่น 0-4336-2108 หรือ 08-8549-0302     -------------------- (ปรับพันธุ์ 'ไหมอีรี่' เพื่อตลาด เพิ่มขนาดรัง - ทนความร้อน : โดย...ธานี กุลแพทย์)      

No comments:

Post a Comment

Blog Archive