Wednesday, April 28, 2010

เทคนิคเข้าสังคมออนไลน์สไตล์Fukduk.tv

เทคนิคเข้าสังคมออนไลน์สไตล์Fukduk.tv



คมชัดลึก :ตั้งแต่นมยังไม่แตกพาน"ม.ร.ว.เฉลิมชาตรี ยุคล" หรือคุณชายอดัม ผู้ก่อตั้งอินเทอร์เน็ตทีวี www.fukduk.tv คลุกคลีอยู่กับอินเทอร์เน็ตมามาก ในยุคของ Social Media หรือสังคมออนไลน์ เขาก็เป็นอีกหนึ่งคนที่เรียกได้ว่าไม่ตกเทรนด์ และยังประยุกต์นำไปต่อยอดใช้ในการทำงาน รวมถึงชีวิตส่วนตัวได้อย่างดี








ในสายตาคุณชายอดัมสังคมออนไลน์ คือ โลกทั้งใบ และยังเป็นโลกที่ให้คำตอบได้เร็วแบบเรียลไทม์ เพียงแค่พิมพ์ข้อความลงไป ในเวลาไม่นานก็จะมีการตอบรับกลับมา ต่างจากการดูทีวี
"สังคมออนไลน์ มันเป็นพื้นที่ในโลกออนไลน์ที่สามารถรวบรวมคนจำนวนมากมาสื่อสารด้วยกัน" ม.ร.ว.เฉลิมชาตรีย้ำ
คุณชายอดัมแบ่งออกเป็น4 แบบ ได้แก่ การสื่อสารแบบ 1 ต่อ 1 ที่หลายคนอาจเคยเจอหรือมีประสบการณ์ เช่น ถามชื่อ ถามอายุ รวมไปจนถึงขอเบอร์ แลกเบอร์โทรศัพท์กัน การสื่อสารแบบ 1 ต่อทุกคน ที่เห็นได้ชัดจากบล็อก ไดอารี่ เฟซบุ๊ก หรือทวิตเตอร์ที่เจ้าของพื้นที่มาเล่า บ่น หรือถาม ให้คนอื่นๆ หลายๆ คนมาร่วมแสดงความคิดเห็นหรือให้คำตอบ
การสื่อสารแบบทุกคนต่อ1 ที่เกิดจากการแสดงความเห็นจากหลายๆ คนไปยังแหล่งเดียว เช่น การแสดงความเห็นเกี่ยวกับการบริการแห่งหนึ่ง ที่ไม่นานก็จะมีอีกหลายคนมาแสดงความเห็นในมุมมองของตนเองตามกันมา และการสื่อสารแบบทุกคนต่อทุกคน ที่ตอนนี้คงไม่มีตัวอย่างไหนที่เห็นได้ชัดไปกว่าเรื่องการเมือง เพราะหากมีการเปิดประเด็นในสังคมออนไลน์ กลุ่มคนที่ผูกสมัครรักใคร่กับแต่ละฝ่ายก็จะออกมาแสดงความเห็นโต้ตอบกัน
แน่นอนว่าม.ร.ว.เฉลิมชาตรี มีสังคมออนไลน์ของตัวเองอยู่มากมายมาตั้งแต่ปี 2545 เริ่มเขียนไดอารี่ลงใน diaryhub.com โดยไม่ได้บอกว่าตัวตนจริงๆ เป็นใคร นำเสนอในแบบที่เป็นตนเอง จนกลายมาเป็นไดอารี่อันดับ 1 จากบรรดาสมาชิกของเว็บที่มีมากกว่า 6 หมื่นคน
จากdiaryhub.com มาสู่ทวิตเตอร์ @adamy และเฟซบุ๊ก ที่จะเห็นภาพสวยๆ ความคืบหน้าของทีมงาน fukduk หรือชีวิตส่วนตัว ประสบการณ์ 10 ปีทำให้เขาเข้าใจสังคมออนไลน์นี้มากขึ้น
@adamy แนะวิธีเข้าสังคมออนไลน์ในแบบฉบับตัวเขาเองว่า ช่วงแรกต้องเริ่มจากการรับฟังความเห็นและวิธีการนำเสนอความคิดเห็นต่างๆ จากนั้นจึงเริ่มเล่าเรื่อง โดยควรเรียนรู้วิธีการเล่าเรื่องให้ประณีต ไม่ว่าจะเป็นการเล่าเรื่องผ่านภาพถ่าย หรือตัวอักษร วิธีนี้ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คุณชายอดัมเอง ได้เรียนรู้วิธีถ่ายภาพ ด้วยหวังให้ภาพที่นำเสนอผ่านสังคมออนไลน์สวยงาม ประณีตดังใจคิด และฝึกฝนฝีมือไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นช่างภาพได้ในที่สุด
เมื่อเล่าเรื่องได้แล้วก็เข้าสู่การเริ่มสนทนาในสังคมออนไลน์สามารถสนทนากันผ่านข้อความที่ตอบมาในหัวข้อหรือข้อความที่เราพิมพ์ไป (Reply) เขายอมรับว่าแต่ละวันต้องพิมพ์ข้อความสนทนาโต้ตอบกับคนอื่นๆ มากกว่า 1,000 ข้อความ การตอบข้อความก็จะต้องบรรจงตอบ พยายามตอบให้หมด แม้จะเป็นเรื่องที่เราไม่รู้ ก็ควรทำการบ้าน หาข้อมูลมานำเสนอ เนื่องจากคำตอบที่ส่งออกไปจะเป็นเครดิตของตัวเอง หากตอบไม่ดี ก็จะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของตัวตนบนโลกออนไลน์
"เคยมีคนมาขอให้ผมตั้งชื่อลูกผ่านเฟซบุ๊กด้วย" คุณชายอดัมพูดยิ้มๆ เหมือนกับขำตัวเองที่ถูกอุปโลกน์ให้เป็นนักโหราศาสตร์
เขายังมองว่าการสนทนากับชุมชนควรพัฒนาวิธีการนำเสนออยู่เสมอ จากนั้นก็เข้าสู่ยุคของการเริ่มสร้างศรัทธา ซึ่งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ตัวตนบนโลกออนไลน์ของเราเอง ศรัทธาดังกล่าวอาจกลายเป็นตัวช่วยสำคัญได้
มีอยู่ครั้งหนึ่งผมรับงานโฆษณาในงบประมาณจำกัดเพียง 1 แสนบาท แต่แนวคิดโฆษณาต้องการตัวประกอบถึง 150 คน โดยจะต้องจ่าย 500 บาทต่อคน งบเท่านั้นทำไม่ได้หรอกครับ ผมเลยประกาศผ่านทวิตเตอร์ว่า ต้องการคน 150 คนสำหรับถ่ายโฆษณา หากสนใจมีส่วนร่วมก็พบเจอได้ตามเวลาและสถานที่ที่นัดแนะ ผลในที่สุดคือ สามารถหานักแสดงประกอบได้ครบตามจำนวน โดยที่ไม่ต้องเสียเงิน แต่อาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจในโลกออนไลน์
"เมื่อศรัทธามากขึ้น ก็สามารถเดินไปสู่ขั้นต่อไปคือ การเริ่มเป็นผู้นำลัทธิ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ @suthichai ของคุณสุทธิชัย หยุ่น ที่มีผู้ติดตาม (follower) มากกว่า 3 หมื่นคน" คุณชายบอกเล่า
ขั้นตอนทั้งหมดยังถือเป็นเพียงแค่การเริ่มต้นในสังคมออนไลน์เท่านั้นม.ร.ว.เฉลิมชาตรีย้ำว่า สิ่งที่ดีที่สุดคือการเริ่มทำ ซึ่งบนโลกออนไลน์จะทำให้เราได้เจอในสิ่งที่ไม่เคยเจอ และได้ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ
เพราะฉะนั้นจงสนุกกับมัน อย่าคิดว่าไร้สาระ และอย่าคิดว่าเป็นงาน
สาลินีย์ทับพิลา








ข่าวที่เกี่ยวข้องแกะรอย "เซเลบธงฟ้า"
พุธที่ 30 ธันวาคม 2552

ทีวีออนไลน์

NEWSblank ข่าวออนไลน์
เรียนภาษาอังกฤษ | หอพัก | ดาวน์โหลด | vol6

No comments:

Post a Comment

Blog Archive