Friday, November 16, 2012

เปิดงบ กสทช. 5 เดือน กว่า 130 ล้านบาท

เปิดงบ กสทช. 5 เดือน กว่า 130 ล้านบาท
NBTC Watch เปิดรายงานตรวจสอบการใช้งบประชาสัมพันธ์ กสทช. รวม 5 เดือน จำนวน 128,663,324  ล้านบาท ระบุมีค่าพื้นที่สื่อ เพื่อลงข่าวในเชิงบวก เชื่อถูกตรวจสอบประมูล 3จี น้อยลง...เมื่อวันที่ 16 พ.ย. คณะทำงานติดตามสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.หรือ NBTC Watch ได้เผยแพร่รายงานสาธารณะ เรื่อง “รายงานตรวจสอบการใช้งบประชาสัมพันธ์ กสทช.” มีใจความว่า ตามที่ นายสุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการ กสทช. และกรรมการกิจการโทรคมนาคม หรือ กทค.อ้างว่า เสียงวิจารณ์ก่อนและหลังการประมูล 3จี เกิดจาก กสทช.ไม่ได้ทำประชาสัมพันธ์ให้สังคมเข้าใจถึงประเด็นที่มีความซับซ้อนอย่างการประมูลคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์ อย่างเพียงพอ คำสัมภาษณ์ดังกล่าวเป็นการโยนปัญหาให้กับความไม่เข้าใจของสังคม และหลีกเลี่ยงการตอบข้อกังขาของสังคม เพราะเท่าที่ศึกษางบประมาณโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่ปรากฏในเอกสารการจัดซื้อจัดจ้างของสำนักงาน กสทช. จะพบว่าคำพูดของ นายสุทธิพลนั้นไม่เป็นความจริง เนื่องจากสำนักงาน กสทช.ได้อนุมัติงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ระหว่างช่วงเดือน มิ.ย.2555 (นับตั้งแต่ กทค.เริ่มเตรียมการประมูล 3จี ด้วยการกำหนดราคาตั้งต้น) จนถึง ต.ค.2555 รวมเป็นเงิน 128,663,324 ล้านบาทโดยสามารถแบ่งออกเป็น 5 ประเภทหลัก ได้แก่ 1.งบซื้อพื้นที่เนื้อหาสื่อ 16,036,615 บาท 2.งบซื้อพื้นที่สื่อ ซึ่งไม่สามารถระบุได้ชัดว่าเป็นพื้นที่โฆษณาหรือเนื้อหา 73,060,604 บาท 3.งบจัดกิจกรรม (งานสัมมนาและนิทรรศการ) 34,734,365 บาท 4.งบซื้อสื่อสำหรับเผยแพร่ข้อมูลสำคัญให้กับผู้มีส่วนได้เสียและสาธารณะ 1,490,510 และ 5.งบผลิตสื่อ 3,341,230 บาทรายงานระบุว่า รายงานของคณะทำงานฯ ฉบับนี้มุ่งวิเคราะห์งบประมาณซื้อสื่อประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ ของ สำนักงาน กสทช. โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการประมูล 3จี โดยผลการศึกษาชี้ให้เห็นถึงความผิดปกติในการใช้งบประมาณประชาสัมพันธ์ของสำนักงาน กสทช. และผลกระทบต่อการทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของสื่อ ดังนี้1.การซื้อเวลาและพื้นที่ในสื่อ การซื้อสื่อในกลุ่มนี้จะระบุไว้ชัดเจนว่าให้ประชาสัมพันธ์ผ่านเนื้อหาของรายการ และบางส่วนจากการตรวจสอบพบว่าเป็นการซื้อพื้นที่เนื้อหาสื่อ ไม่ใช่พื้นที่โฆษณา ซึ่งสำนักงาน กสทช.ควรถูกตั้งคำถามถึงความชอบธรรมในการซื้อเนื้อหาสื่อที่ถือเป็นการแทรกแซงองค์กรสื่อ ที่ควรทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของ กสทช. นอกจากนั้นเนื้อหาที่ปรากฏในสื่อบางส่วนมีลักษณะเป็นการโฆษณาตัวบุคคล โดยเฉพาะการถ่ายภาพขึ้นปกของ ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ประธาน กทค. ในนิตยสารหลายฉบับในเครือ ARIP และส่วนมากมีลักษณะเป็นการให้ข้อมูลและข้อโต้แย้งที่สนับสนุนการตัดสินใจทางนโยบายของ กทค.เพียงด้านเดียว2. การซื้อสื่อที่ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นพื้นที่โฆษณาหรือเนื้อหาในสื่อ แม้จะไม่สามารถตรวจสอบแน่ชัดว่าเป็นการใช้งบประมาณเพื่อซื้อพื้นที่โฆษณาหรือเนื้อหาสื่อเหมือนเช่นกรณีแรก เนื่องจากในเอกสารการจัดซื้อจัดจ้างไม่ได้ระบุแน่ชัดถึงวัตถุประสงค์ในการประชาสัมพันธ์ และไม่ได้ให้รายละเอียดว่าเป็นการซื้อพื้นที่สื่อไหนบ้างและช่วงเวลาใด รวมถึงมีการลงชื่อบริษัทที่รับจ้างซึ่งน่าจะผิดพลาดหลายแห่ง อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่มีข้อมูลชัดเจน ทว่างบประมาณที่ใช้ในส่วนนี้ ที่มีทั้งการจ้างบริษัทสื่อโดยตรงและผ่านบริษัทวางแผนสื่อ น่าจะส่งผลต่อการทำงานของสื่อต่อการตรวจสอบ กสทช. ดังที่ นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา หนึ่งใน กทค. ที่ดูแลด้านผู้บริโภค ออกมาให้ข้อมูลว่า สำนักงาน กสทช. นำงบประมาณไปซื้อสื่อเพื่อหาโอกาสเข้าไปแทรกแซงกระบวนการบรรณาธิการข่าว เช่น สื่อบางฉบับถูกสั่งให้ไม่ลงข่าว กสทช. เสียงข้างน้อย สื่อวิทยุหรือโทรทัศน์บางแห่งถูกสั่งไม่ให้เชิญคนที่วิพากษ์วิจารณ์มาออกรายการ หรือมีการขอตรวจคำถามก่อนเข้ารายการจากการตรวจสอบงบประชาสัมพันธ์ส่วนนี้ ซึ่งเป็นก้อนใหญ่ที่สุด คณะทำงานฯ มีข้อสังเกตว่า นอกจากเป็นการอนุมัติงบให้กับบริษัทสื่อที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักและ/หรือไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับงานในกิจกรรมของ กสทช. ตัวอย่างเช่น นิตยสาร The Police Variety ซึ่งเผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับตำรวจไทย การอนุมัติงบก้อนใหญ่ให้กับบริษัทสื่อหลายแห่ง น่าจะส่งผลต่อการทำงานของสื่อ ดังที่คณะทำงานฯ ศึกษาตรวจสอบผลของการซื้อสื่อต่อการทำงานของสื่อ โดยเลือกสื่อในเครือมติชนที่ได้งบประชาสัมพันธ์จากสำนักงาน กสทช.มากกว่าบริษัทสื่ออื่นๆ คือได้รับถึง 13,289,660 บาท ซึ่งพบว่า หลังจากได้งบสื่อหลักของเครือมติชน ได้แก่ หนังสือพิมพ์มติชน มีการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับ กสทช.รวม 93 ข่าว บทความ สกู๊ป และข้อเขียนอื่นๆ รวม 44 ชิ้น และภาพกิจกรรมอีก 8 ภาพ โดยมีข้อน่าสังเกตดังนี้(1) กรณีข่าว แม้จะให้น้ำหนักและพื้นที่ตามประเด็นสำคัญในช่วงเวลานั้นๆ แต่ไม่ค่อยปรากฏข่าวเชิงตรวจสอบ กสทช.มากนัก และมักมีพาดหัวเชิงบวกต่อ กสทช.และเชิงลบต่อฝ่ายตรวจสอบ กสทช. โดยเฉพาะหลังการประมูล 3จี อาทิ “กสทช. ฉะคลัง จุ้นประมูล 3จี” ”กทค. รับรองไม่ขัด รธน. ชี้ฝ่ายต้านใช้อารมณ์ล้วนๆ” “กสทช. เดินสายท้าสอบ ธาริตชี้เบื้องต้นไม่พบพิรุธ” “ฉุนทีดีอาร์ไอ ปธ.กทค.ยัวะ ไม่เคยร่วมเวทีคิด ชอบค้านตอนจบ”และ (2) กรณีบทความ สกู๊ป และข้อเขียนอื่นๆ พบว่ามีหลายบทความที่โน้มเอียงไปทาง กสทช.หรือไม่เห็นด้วยกับฝ่ายที่ตรวจสอบ กสทช. มีการเปิดพื้นที่ให้ฝ่าย กสทช.ได้ชี้แจงมากกว่าให้ฝ่ายตรวจสอบ นอกจากนี้ ยังตอกย้ำวาทกรรมคล้ายๆ กัน คือควรปล่อยให้การประมูล 3จี เดินหน้าต่อไป แล้ว กสทช.ค่อยไปกำกับดูแลเรื่องค่าบริการจะดีกว่า เวลาเดียวกันก็มีการใช้ถ้อยคำเชิงลบต่อฝ่ายตรวจสอบ กสทช.ในหลายบทความอย่างต่อเนื่อง อาทิ “ฝันเฟื่องที่ไร้เหตุผล” “กลับไปนุ่งใบไม้...ส่งสัญญาณควันอยู่ตามถ้ำ” “ขบวนการเหล่าคนดี๊ดี...สร้างเรื่องขยายข่าวที่ไม่เป็นจริงขึ้นมาเป็นอาวุธ”3.การใช้งบประมาณเพื่อจัดกิจกรรม พบว่า กิจกรรมเกือบทั้งหมดเกี่ยวข้องกับการประมูล 3จี โดยข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ การที่บริษัทสื่อเป็นผู้รับจัดกิจกรรมให้กับ กสทช. จะส่งผลกระทบต่อการรายงานเนื้อหาในสื่อของตนหรือไม่4.งบประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารสำคัญให้กับสาธารณะ เช่น ประกาศของสำนักงาน กสทช.หรือการรับฟังความเห็นสาธารณะ ให้กับผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนได้รับทราบ ซึ่งถือเป็นหน้าที่อันพึงกระทำตามอำนาจหน้าที่ของ กสทช. อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบของคณะทำงานฯ พบว่า งบประชาสัมพันธ์ส่วนนี้กลับมีเพียง 1,490,000 บาท หรือไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ของงบประชาสัมพันธ์ของสำนักงาน กสทช.ทั้งหมด ในช่วงเวลาดังกล่าว และไม่ปรากฏงบประชาสัมพันธ์การรับฟังความเห็นสาธารณะต่อร่างประกาศเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ฯ 2.1 กิกะเฮิรตซ์ แต่อย่างใดรายงานดังกล่าวยังระบุต่อว่า คณะทำงานฯ พบว่าการใช้งบประชาสัมพันธ์ของสำนักงาน กสทช. โครงการใดที่มีมูลค่าเกิน 1 ล้านบาท จะใช้วิธีการ พิเศษ ทั้งหมด ซึ่งตามระเบียบ กทค.ว่าด้วยการพัสดุ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2550 วิธีการดังกล่าวจะใช้ได้ก็ต่อเมื่อมีความจำเป็นต้องดำเนินการให้ทันต่อสถานการณ์ และมีระยะเวลาอันจำกัดเท่านั้น แต่ในกรณีอนุมัติงบก้อนใหญ่ให้กับองค์กรสื่อหรือบริษัทวางแผนสื่อเพื่อให้ลงประชาสัมพันธ์ต่อเนื่องล่วงหน้า ไม่น่าจะใช้เป็นข้ออ้างได้ว่าเป็นกรณีที่ต้องทำอย่างเร่งด่วน“ปัญหาที่นำไปสู่การประมูลที่ล้มเหลวและการวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมจึงน่าจะไม่ได้อยู่ที่การอ่อนประชาสัมพันธ์ของ กสทช. แต่อย่างไร ความผิดปกติในการออกแบบและการจัดการประมูลต่างหากที่น่าจะเป็นปัญหาที่ตามหลอกหลอน กสทช. อยู่จนถึงทุกวันนี้ ดังนั้นไม่ว่าสำนักงาน กสทช. จะใช้งบกว้านซื้อใบบัวมาปิดช้างที่ตายทั้งตัวเพื่อลดข้อกังขาของสังคมอย่างไร ข้อสงสัยว่าการจัดประมูลทำให้ผู้ประกอบการได้รับผลประโยชน์มหาศาล ในขณะที่รัฐและประชาชนเสียหายนั้นก็จะยังคงมีต่อไป” รายงานของคณะทำงานติดตาม กสทช.ระบุพ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กสทช. และ ประธาน กทค. กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวต้องสอบถามไปยังสำนักงาน กสทช.เพราะส่วนตัวไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดทำเรื่องดังกล่าว ส่วนเรื่องที่ระบุว่าใช้งบประมาณในจำนวนนี้ซื้อพื้นที่สื่อ เพื่อให้การตรวจสอบเรื่องการประมูล 3จี น้อยลงนั้น พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าวว่า ต้องสอบถามไปที่นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาฯ กสทช. อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวยังไม่เห็นข้อมูลตัวเลขดังกล่าว แต่ก่อนหน้านี้ กรรมาธิการเคยให้ไปชี้แจงแล้ว และการใช้เงินสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. ก็ตรวจทุกปี ดังนั้นจึงต้องทำตามระเบียบ ส่วนจะมีการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการหรือไม่นั้นต้องอยู่ที่เลขาฯ กสทช.

No comments:

Post a Comment

Blog Archive