Thursday, November 22, 2012

น้ำมันไบโอเจ็ทจากน้ำมันปาล์ม - ฉลาดคิด

น้ำมันไบโอเจ็ทจากน้ำมันปาล์ม - ฉลาดคิด วันพฤหัสบดีที่ 22 พฤศจิกายน 2555 เวลา 00:02 น. ปัญหาภาวะโลกร้อน จากการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงฟอสซิล ประกอบกับกระแสอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม ทำให้หลายหน่วยงาน เช่น องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ได้กำหนดให้เครื่องบินพาณิชย์ทุกลำที่ผ่านน่านฟ้ายุโรป ต้องมีการผสมน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพลงในเครื่องบิน ภายในปีพ.ศ. 2555 รวมทั้งสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ ก็ได้ร่วมรณรงค์ในการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพขึ้นในหลายสายการบิน ด้วยเหตุนี้ “รศ.ดร.เฉลิม เรืองวิริยะชัย” ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย พร้อมคณะวิจัย จึงได้พัฒนากระบวนการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพสำหรับเครื่องบินขึ้นมา ภายใต้โครงการวิจัย เรื่อง การวิจัยและพัฒนาการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพเอชอาร์เจ (Hydrotreated Renewable Jet) จากน้ำมันปาล์ม โดยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัย จากสำนักพัฒนาบัณฑิตศึกษาและวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สบว.) ภายใต้การดูแลของศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมทางเคมี รศ.ดร.เฉลิม กล่าวว่า ในการวิจัยครั้งนี้ เลือกน้ำมันปาล์มโอเลอินเป็นวัตถุดิบในการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ โดยอาศัยกระบวนการไฮโดรแคร็กกิ้ง และเครื่องปฏิกรณ์ชีวภาพต้นแบบขนาดเล็กสำหรับผลิตน้ำมันที่ใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาจำเพาะ หลักการทำงานคร่าว ๆ คือ การทำให้โมเลกุลของน้ำมันปาล์มแตกตัวเล็กลงที่เกิดบนตัวเร่งปฏิกิริยา พร้อมเติมก๊าซไฮโดรเจนลงไปที่อุณหภูมิและความดันสูง เพื่อเร่งให้เกิดปฏิกิริยาทางเคมี โดยตัวเร่งปฏิกิริยาตั้งต้นที่ใช้ ก็คือ ซีโอไลต์ ที่มีลักษณะเป็นผงสีขาว นำมากระตุ้นด้วยการอบที่อุณหภูมิสูง จากนั้นจะผสมสารละลายของโลหะผสม 2 ชนิด คือ นิเกิล และโมลิบดินัม ลงไป แล้วให้ความร้อนที่อุณหภูมิ 120 องศาเซลเซียส ตามด้วยการเผาที่อุณหภูมิสูง ๆ จะได้ตัวเร่งปฏิกิริยาที่มีความจำเพาะในการเกิดปฏิกิริยาไฮโดรแคร็กกิ้ง ผลการวิจัยในการผลิตน้ำมันทำให้ได้น้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพหลายชนิด เช่น น้ำมันไบโอเจ็ท น้ำมันเบนซิน และไบโอดีเซล รศ.ดร.เฉลิม กล่าวอีกว่า นอกจากได้น้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพที่มีคุณภาพสูง การเผาไหม้ที่ดี มีค่าเลขซีเทนและเลขออกเทนสูงขึ้นแล้ว สามารถนำไปใช้กับเครื่องยนต์รอบสูงอย่างเครื่องบินไอพ่น และเครื่องยนต์เบนซินได้ ผลงานวิจัยดังกล่าวยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสามารถนำน้ำมันพืชทุกชนิดมาผลิตเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพได้ แต่อาจได้ผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับวัตถุดิบเริ่มต้น และสภาวะที่เลือกใช้วิจัย ดังนั้นจึงนับได้ว่า เป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมของการผลิตพลังงานทดแทนน้ำมันดิบใต้ดินที่นับวันจะหมดไปทุกที.

No comments:

Post a Comment

Blog Archive