Sunday, February 10, 2013

30ปีธุรกิจเพาะต้นกล้าข้าวตำรับไต้หวัน

30ปีธุรกิจเพาะต้นกล้าข้าวตำรับไต้หวัน
                         แม้ประเทศไทยจะขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำ ในน้ำมีปลาในนามีข้าว บรรพบุรุษของเราหลายชั่วอายุคนส่วนใหญ่ยึดอาชีพการทำนา ส่งผลให้ประเทศไทยส่งออกข้าวเป็นอันดับ 1 ของโลกมายาวนานหลายทศวรรษ (เพิ่งจะเสียแชมป์ให้เวียดนามปี 2555) แต่นั่นเพราะไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวเป็นจำนวนมาก หากแต่ในความเป็นจริงผลผลิตต่อไร่ พบว่าประเทศไทยถือว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับประเทศที่ทำนาด้วยกัน อาทิ จีนได้ผลผลิตไร่ละ 1,054 กก.ต่อปี ถ้าเป็นข้าวพันธุ์ลูกผสมได้ไร่ละ 2,000 กก.ต่อปี ส่วนเวียดนามให้ผลผลิตเฉลี่ยที่ไร่ละ 875 กก.ข้าวพันธุ์ลูกผสมได้ 1,500-2,000 กกต่อไร่ ขณะที่อินโดเนีเซียไร่ละ 774  กก.แต่ไทยอยู่ที่ไร่ละ 460-480 กก.เท่านั้น                           ล่าสุดจากการไปดูงานด้านการผลิตต้นกล้าข้าวสำหรับทำนาดำในพื้นที่หลายจังหวัดของไต้หวัน และได้พูดคุยกับเกษตรกรที่ จ.ไฉยี่ ใช้ข้าวพันธุ์เบอร์ 11 ปลูกในพื้นที่ 1 เฮกตาร์ ได้ผลผลิต 1.5 หมื่น กก. หรือกว่า 2,000 กก.ต่อไร่ โดยที่ชาวนาไต้หวันนิยมทำนาดำด้วยรถดำนาถึง 99% ทำให้ได้ผลผลิตสูง                          สอดคล้องกับตามหลักวิชาการของไทยเราเอง ที่ระบุว่าการทำนาดำจะดีกว่านาหว่าน ทั้งลดต้นทุนการผลิต ทั้งค่าสารกำจัดวัชพืช และลดปริมาณข้าวปน โดยเฉพาะลดต้นทุนการใช้เมล็ดพันธุ์ได้ถึง 1 ใน 4 ส่วน จากที่ทำนาหว่านใช้เมล็ดพันธุ์เฉลี่ยไร่ละ 25-35 กก. ขณะที่ทำนาดำใช้เพียงไร่ละ 8-10 กก.เท่านั้น นอกจากนี้ยังทำให้เพิ่มผลผลิตด้วย เพราะนาดำต้นข้าวเจริญเติบโตได้ดี เนื่องจากได้รับแสงแดดสม่ำเสมอ จึงสามารถสร้างอาหารได้เต็มที่                          ด้วยเหตุนี้ไต้หวันจึงประสบผลสำเร็จในการปลูกข้าวอันต้นๆของโลก และที่นั่นมีธุรกิจอีกอย่างหนึ่งที่ดำเนินการมาเกือบ 40 ปี คือการผลิตต้นกล้าข้าวสำหรับทำนาดำ เพื่อจำหน่ายให้เกษตรกร บางรายผลิตต้นกล้าข้าวในถาดอย่างเดียว ขณะที่อีกหลายรายทั้งผลิตต้นกล้าและเป็นเจ้าของรถดำนาเพื่อรับจ้างดำนาด้วย ปรากฏว่าสร้างรายให้ผู้ประกอบการเป็นอย่างดี อย่างศูนย์ผลิตกล้าข้าวบรรจุถาดของดีลเลอร์ ที่ขายเครื่องยนต์การเกษตรคูโบต้าแห่งหนึ่ง ที่เมืองตาหลิง จ.จาอี่ ทำครบวงจร ทั้งทำนาเอง ผลิตต้นกล้าเพื่อจำหน่าย และมีรถดำนาคูโบต้า เพื่อรับจ้างดำนาด้วย                          นายลี จองเจิ่น ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท ชิน ไต้หวัน อะกรีเคาท์เจอรัล แมชเชอร์เนอรี่ กำจัด ผู้จำหน่ายเครื่องยนต์ดีเซลเพื่อการเกษตรคูโบต้าที่ จ.เกาชง กล่าวว่า การผลิตต้นกล้าข้าวบรรจุถาด ที่ไต้หวันจะเน้นใช้เทคโนโลยีเป็นหลัก เนื่องจากขาดแคลนแรงงานและค่าแรงสูง ส่วนเทคโนโลยีจะเริ่มตั้งแต่การเตรียมถาดวางไว้บนสายพานจะลำเลียงผ่านเครื่องผสมดินซึ่งจะใช้ดิน 40% ผสมแกลบสดที่ผ่านการหมักกว่า 1 ปี 60% แล้วสายพานลำเลียงผ่านเครื่องโรยเมล็ดพันธุ์ที่ผ่านการแช่น้ำมา 4 วัน จากนั้นเข้าสู่เครื่องรดน้ำ เครื่องปั๊มให้ดินแน่น ลำเลียงส่งไปยังที่บ่มเมล็ดข้าวที่จะรอการงอกและถึงอายุก่อนส่งขายให้เกษตรกร รวมเวลาตั้งแต่เริ่มโรยเมล็ดพันธุ์ใส่ถาดกว่าจะถึงอายุที่ดำได้ใช้เวลา 16-18 วัน                           "ศูนย์ผลิตกล้าข้าวบรรจุถาดที่เมืองตาหลิง ดำเนินกิจการมากว่า 30 ปีแล้ว ปัจจุบันจะเน้นพันธุ์เบอร์ 11 เพราะให้ผลผลิตสูงคือพื้นที่ 1 เฮกตาร์ ใช้กล้าพันธุ์ 250 ถาด ราคาถาดละ 30 บาท จะได้ผลผลิตข้าว 1.5 หมื่น กก.หรือกว่า 2,000 กก.ต่อไร่  ราคาข้าวที่ไต้หวันสีแล้วตกตันละราว 8 หมื่นบาท หากใช้รถดำนาคูโบต้าอย่างที่ศูนย์แห่งนี้เป็นรุ่นเอ็นเอสดี -8 ขนาด 8 แถว สามารถดำนาได้วันละกว่า 20 ไร่" นายลี กล่าว                          ด้านนายเวิน จีนฉวย เจ้าของศูนย์ผลิตเพาะกล้าข้าวบรรจุถาดที่เมืองไถเปา จ.จาอี่ บอกว่า ลงทุนผลิตเพาะกล้าข้าวบรรจุถาดครั้งแรก 3 ล้านบาท เมื่อ 30 ปีก่อน ผลิตต้นกล้าข้าวเพียงฤดูกาลละ 5 หมื่นถาด แต่ปัจจุบันขยายการลงทุนเป็น 10 ล้านบาท มีถาดสำหรับเพาะกล้า 1.5 แสนถาด สามารถผลิตกล้าพันธุ์ข้าวจำหน่ายฤดูกาลละ 3 แสนถาดขายในราคาถาดละ 28 บาท ขณะที่ต้นทุนกว่า 10 บาท ใช้แรงงานคนเพียง 6 คนเท่านั้น                           นายจิง อารู่ เจ้าของศูนย์เพาะกล้าขนาดเล็กแต่ใช้เทคโนโลยีการผลิตต้นกล้าข้าวบรรจุถาดที่ทันสมัยที่สุด ทั้งเครื่องผสมดินปุ๋ย โรยเมล็ดกล้า เครื่องรดน้ำ สายพานลำเลียงถาดตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปลายทาง คือการบ่มในแปลงนา ที่เมืองซื่อธง จ.ยุนหลิน บอกว่า ทำธุรกิจเพาะกล้าพันธุ์ข้าวสำหรับนาดำมากว่า 35 ปีแล้ว ลงทุนครั้งแรกถ้าคิดเงินไทย 1 ล้านบาท เครื่องผลิตเพาะต้นกล้า รวมกับปัจจุบันได้ขยายกำลังผลิตจึงลงทุนเพิ่มอีก 4 ล้านบาท เริ่มจากถาดบรรจุเมล็ดพันธุ์เพียง 4 หมื่นถาด สามารถผลิตต้นกล้าทั้งเพาะกล้า 1 แสนถาดต่อฤดูกาล (ทำนาปีละ 2 ครั้ง) แต่ปัจจุบันขยายเป็น 2-3 แสนถาด ได้กำไรถาดละกว่า 10 บาท                          ส่วนนายลี ซื่อเฉิน เจ้าศูนย์เพาะกล้าที่เมืองโชวเซ จ.จังฮั่ว บอกว่า ลงทุนครั้งแรกเพียง 5 แสนบาทเมื่อ 31 ปีก่อน ปัจจุบันทำครบวงจร เพาะกล้าเอง ทำนาเองในพื้นที่มีนา 8 เฮกตาร์ มีรถดำนา 4 คัน รถเกี่ยวและนวดข้าวอีก 1 คัน ใช้แรงงานคนเพียง 10 เท่านั้น                           สำหรับประเทศไทยเริ่มมีธุรกิจผลิตต้นกล้าข้าวสำหรับนาดำเมื่อ 5-6 ปีที่ผ่านมา อย่างนายศักดิ์ ม่วงแย้ม เกษตรกรวัย 50 ปี เจ้าของศูนย์เพาะกล้าธีรศักดิ์รถดำนากล้าแผ่น ต.เกาะตาเลี้ยง อ.ศรีสำโรง จ.อุทัยธานี บอกว่า เริ่มแรกซื้อรถดำนาของคูโบต้ารุ่น 6 แถว และทดลองผลิตกล้าข้าวในถาดครั้งแรกเมื่อปี 2549 มี 3,000 ถาด แต่ช่วงแรกไม่เป็นที่ยอมรับ กระทั่ง 1 ปีผ่านไป ชาวนาเห็นว่าได้ผลผลิตดี จึงมาซื้อต้นกล้า ทำให้วันนี้ได้ขยายเป็น 2 แสนถาดขายในราคาถาดละ 15 บาทต้นทุนอยู่ที่ถาดละ 8 บาท  พร้อมกับเพิ่มรถดำนาเพื่อรับจ้างอีกรวมเป็น 5 คัน เพื่อรับจ้างดำนา                          เช่นเดียวกับนายสมปอง สุดมี เจ้าของศูนย์เพาะกล้าต่อเจริญกลการ ต.เขาดิน อ.เก้าเสี้ยว จ.นครสวรรค์ บอกว่าเป็นเจ้าแรกที่ผลิตกล้าข้าวในถาด และรับจ้างดำนาใน จ.นครสวรรค์ ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี 2551 ปัจจุบันมีถาดทั้งหมด 5 หมื่นถาด ผลิตปีละ 3 รุ่น  เริ่มจากลงทุน 2,000 บาท แต่วันนี้มีรถดำนาคูโบต้ารับจ้างดำนา 3 คัน กระนั้นทั้ง 2 รายต่างยอมรับว่าการผลิตต้นกล้าในประเทศไทยยังใช้แรงงานคนเป็นหลัก และหลังจากดูงานที่ไต้หวันแล้วจะเพิ่มเทคโนโลยีมาใช้ โดยเฉพาะระบบลำเลียงเป็นต้น                          การผลิตต้นกล้าข้าวสำหรับนาดำ นับเป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะมีการวิจัยอย่างชัดเจนแล้วว่าการทำนาดำนั้น นอกจากต้นทุนต่ำ ดูแลกำจัดวัชพืชง่ายแล้วยังให้ผลผลิตสูงอีกด้วย ซึ่งนายจามรวุฒิ  ตำนานจิตร ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท สยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น จำกัด บอกว่า สยามคูโบต้าให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ภายในแคมเปญ "คูโบต้า ที่ 1 ในใจเกษตรกรไทย" และจะนำความรู้จากการดูงานไปประยุกต์กับประเทศไทยด้วย     -------------------------------- (กว่า 30 ปีธุรกิจเพาะต้นกล้าข้าว ต้นตำรับจากไต้หวันสู่ชาวนาไทย : โดย...ดลมนัส  กาเจ)      

No comments:

Post a Comment

Blog Archive