Friday, February 8, 2013

น้ำอิงกระเป๋าเสื่อกกงานมือวินเทจ

น้ำอิงกระเป๋าเสื่อกกงานมือวินเทจ
                          "เสื่อกก" ที่รู้จักกันส่วนใหญ่มักนำมาใช้ปูรองนั่งเพียงอย่างเดียว แต่ทุกวันนี้ได้ถูกปรับเปลี่ยนมาเป็นผลิตภัณฑ์หลายรูปแบบ หลากสไตล์ ทั้งตะกร้า ที่รองจาน หมวก กล่องกระดาษชำระ และอื่นๆ อีกมากมาย หนึ่งในนั้นที่ได้รับความนิยมคือ กระเป๋าสานจากกก ซึ่ง วัชรี หาญจำลอง หรือ "อ้อย" เจ้าของกระเป๋าเสื่อกกประดับผ้าลูกไม้แบรนด์ "น้ำอิงแฮนด์เมด" ที่ชูไอเดียนำเสื่อกกธรรมดามาทำกระเป๋าและปรับแต่งด้วยผ้าลูกไม้ คาดด้วยสายหนัง สายพลาสติกสีสันสดใส ทำให้ดูสวยหวานสไตล์วินเทจ ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมของวัยรุ่นปัจจุบัน                           "วัชรี" เล่าถึงที่มาของการผลิตกระเป๋าเสื่อกกประดับผ้าลูกไม้นี้ว่า ตนเองได้แรงบันดาลใจมาจากการที่แม่สามีเย็บเสื่อกกอยู่ก่อนแล้วบวกกับตัวเองพอที่จะมีฝีมือในการเย็บปักถักร้อย จึงทำให้เกิดไอเดียว่าอยากจะลองทำกระเป๋าเสื่อกกขึ้นมา แต่ก็ถามตัวเองก่อนว่าจะทำอย่างไรให้แตกต่างและช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าได้ เพราะปัจจุบันมีกระเป๋าเสื่อกกทำออกมาขายกันเป็นจำนวนมาก                           โดยพยายามตีโจทย์อยู่นาน กระทั่งได้ลองนำเอาเศษผ้าที่เหลือใช้จากงานฝีมือมาลองประดับตกแต่งเข้ากับกระเป๋าเสื่อกกดู ปรากฏว่าทำออกมาแล้วสวยดี เลยลองนำเอาผ้าลูกไม้ ผ้าขาวม้า ผ้าแขก และผ้าไทยที่มีลวดลายต่างๆ มาลองเย็บประดับเข้าไป จึงได้ออกมาเป็นกระเป๋าเสื่อกกที่มีความสวยงามไม่ซ้ำใครและมีใบเดียวในโลก เพราะแต่ละใบวัชรีบอกว่าทำเองทุกขั้นตอน ทั้งเย็บเอง ตกแต่งเอง อีกทั้ง ประดับด้วยผ้าลูกไม้เอง เพื่อจะช่วยทำให้เสื่อกกที่ดูแข็งกระด้างสวยหวานและมีสไตล์ขึ้น โดยเฉพาะในแบบที่ลูกค้าอยากดูเท่เก๋ก็ต้องเป็นลายผ้าขาวม้ามีที่มีกลิ่นอายของท้องถิ่นอีสาน แต่หากอยากดูหรูหราก็ต้องประดับด้วยผ้าแขกสีดำ                           “ตอนนี้ทำงานเป็นพนักงานอยู่ที่บริษัทแห่งหนึ่งเป็นงานประจำ แต่พอได้ลองทำกระเป๋าเสื่อกกออกมาวางขาย ทำมาได้ปีกว่า ปรากฏว่าผลตอบรับดีเกินคาด ช่วยให้มีรายได้มาดูแลครอบครัวเพิ่มมากขึ้น จึงได้ทำควบคู่กับงานประจำมาเรื่อยๆ และในอนาคตยังคิดจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สามารถเข้าสู่ระดับ โอท็อปให้ได้ เพราะอยากให้คนไทยได้ใช้ของไทยที่มีคุณภาพ ในแบบที่ไม่ซ้ำใคร และยังเป็นการอนุรักษ์งานหัตถกรรมที่บ่งบอกถึงความเป็นไทยได้อีกทางหนึ่ง” วัชรี บอก                           พร้อมย้ำถึงขั้นตอนการผลิตว่า ได้รับซื้อเสื่อกกมาจากแม่สามีที่บ้านแวงน้อย และจากกลุ่มทอเสื่อกกบ้านแพง จากนั้นพอได้เสื่อกกที่ทอมาเป็นผืนใหญ่ๆ ก็จะนำมาตัดแบ่งให้ได้ขนาดตามแบบตามไซส์กระเป๋าตามที่ต้องการ แล้วเย็บต่อเข้าด้วย เย็บปิดขอบให้สวยงามด้วยผ้าหลากสี ตกแต่งด้วยผ้าลูกไม้หรือผ้าลายต่างๆ เย็บสายกระเป๋าติด แล้วบุผ้ากับฟองน้ำไว้ด้านในตัวกระเป๋า ทำให้มีความคงทนแข็งแรงใช้ได้นานหลายปี ทั้งนี้ กระเป๋าส่วนใหญ่จะใช้เวลาทำวันละสองถึงสามใบ แต่ละใบไม่จะซ้ำกันเลย เพราะจะมีการปรับเปลี่ยนแบบไปเรื่อยๆ จากนั้นจึงเริ่มหาตลาดที่จะมาวางขายสินค้าไอเดียของวัชรี จนมาลงตัวที่ถนนคนเดินขอนแก่น ซึ่งพอเริ่มวางขายได้ไม่นานก็มีลูกค้าให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีทั้งนักศึกษา นักเรียน และคนวัยทำงาน                           “ตอนแรกๆ ที่เริ่มวางขายลูกค้าหลายคนกลัวว่าเสื่อกกมักจะขึ้นราและดูแลรักษายาก แต่สำหรับกระเป๋าเสื่อกกสไตล์วินเทจนี้ สามารถดูแลรักษาด้วยวิธีง่ายๆ เพียงแค่เก็บไว้ในห้องที่อากาศถ่ายเทไม่อับชื้น เมื่อสกปรกหรือมีรอยเปื้อนก็นำไปซักให้สะอาด แล้วตากแดดจนแห้ง หรือถ้าขึ้นราก็ควรเช็ดและขัด แล้วผึ่งแดดให้แห้งก็สามารถนำกลับมาใช้ได้และคงสภาพเหมือนใหม่อีกครั้ง มีลูกค้าหลายคนที่ซื้อไปแล้วกลับมาซื้ออีก บ้างก็ซื้อไปเป็นของฝาก และมีลูกค้าหน้าใหม่ๆ สนใจเพิ่มมากขึ้น”                           "วัชรี" ทำกระเป๋าออกมาวางขายในนามแบรนด์ "น้ำอิงแฮนด์เมด" โดยในแต่ละสัปดาห์สามารถผลิตได้ราวๆ 50 ใบ รายได้ 5,000-6,000 บาทต่อสัปดาห์ ตอนนี้ทำเป็นอาชีพเสริมมาได้ปีกว่าแล้ว และคิดว่าจะผลิตสินค้าไอเดียขายต่อไป โดยมีจุดขายตรงที่ความแปลกใหม่ เป็นสินค้าไอเดียฝีมือคนไทยราคาไม่แพงเริ่มต้นที่ใบละ 250-450 เท่านั้น นับเป็นสินค้าทำมือที่น่าสนใจ อนุรักษ์ความเป็นไทยโดยการประยุกต์ให้เข้ายุคเข้าสมัยได้ดีทีเดียว                           ผลิตภัณฑ์กระเป๋าเสื่อกกสไตล์วินเทจนับเป็นสินค้าจากกกที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่น่าสนใจ ทั้งแง่ความสวยงาม ความคงทน หากผู้ใดต้องการทราบรายละเอียด หรือสนใจในตัวผลิตภัณฑ์ สอบถามได้ที่วัชรี 49/65 ซอย สุขสบาย 1 โนนทัน 3 ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น 40000 โทร.09-0581-9204 หรือหาชมได้ที่ถนนคนเดิน อ.เมือง จ.ขอนแก่น ทุกวันเสาร์     -------------------- (กระเป๋าเสื่อกกแบรนด์ 'น้ำอิง' งานมือสไตล์วินเทจ - โดนใจวัยรุ่น : โดย...ธีมาพร เยระบุตร)      

No comments:

Post a Comment

Blog Archive