Monday, February 4, 2013

เสริมแกร่ง3รัฐวิสาหกิจรับเออีซี

เสริมแกร่ง3รัฐวิสาหกิจรับเออีซี
                           ภายหลังที่ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รัฐมนตรีช่วยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงให้กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ 3 แห่งของกระทรวง ประกอบด้วย สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) องค์การสวนยาง (อสย.) และองค์การสะพานปลา (อสป.) จากนั้นจึงเร่งเดินหน้ามอบนโยบายแก่หน่วยงานในสังกัดทันที หวังเตรียมความพร้อมเพื่อให้ประเทศไทยได้ก้าวมาอยู่แถวหน้าบนเวทีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งจะมีผลทันทีในอีก 2 ปีข้างหน้า                            โดยสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง หรือ สกย. นั้น จะมุ่งเน้นนโยบายหลักๆ คือ การเร่งเดินหน้าโครงการพระราชดำริที่ สกย. มีส่วนเกี่ยวข้องทุกโครงการ ผลักดัน พ.ร.บ.กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง การดำเนินงานโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง ตลอดจนการพัฒนาเครือข่ายชาวสวนยางให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น                               "ประเทศไทยเป็นทั้งประเทศผู้ผลิตและส่งออกยางพารารายใหญ่ของโลก  สกย.ในฐานะหน่วยงานหลักที่ดูแลด้านปริมาณการผลิตยางพารา จึงต้องมีการวางแผนการผลิตยางพาราให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ พร้อมทั้งปรับปรุงระบบข้อมูลสารสนเทศด้านยางพาราให้มีความเหมาะสม ควบคู่กับการค้นคว้าวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ในการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ และพัฒนาการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพาราเพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการผลิตยางรถยนต์เพื่อใช้ในประเทศ และลดการนำเข้า รวมทั้งเป็นการรองรับผลผลิตยางที่จะออกมาในฤดูกาลใหม่" ยุทธพงศ์กล่าวถึงทิศทางยางพาราไทยระหว่างการเยือน สกย.เพื่อมอบนโยบาย                            ขณะเดียวกัน สกย.เองก็มีแผนงานและโครงการที่สำคัญที่จะดำเนินการในปีงบประมาณ 2556 หลายโครงการด้วยกัน อาทิ โครงการจัดตั้งตลาดน้ำยางสดระดับท้องถิ่น โครงการปลูกยางพาราในพื้นที่ว่างเปล่าในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ การจัดการตลาดยางพาราแบบครบวงจร การส่งเสริมการปลูกยางพันธุ์ดีและไม้ยืนต้นที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ โครงการฝึกอบรมช่างกรีดยาง (ลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ) โครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย  วาตภัย และดินถล่ม เป็นต้น                              ส่วนองค์การสวนยาง หรือ อสย. ก็เป็นอีกรัฐวิสาหกิจที่มีภารกิจหลักในการเป็นผู้นำด้านการผลิตและด้านธุรกิจยางพารา ทำหน้าที่เป็นกลไกภาครัฐร่วมกับเครือข่ายเกษตรกร ในการรักษาเสถียรภาพการผลิตและราคายาง  และเพิ่มมูลค่ายางของประเทศ นอกจากนั้นยังเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับเกษตรกรชาวสวนยางและผู้ที่สนใจเรื่องของการปลูกสร้างสวนยาง รวมทั้งการผลิตแปรรูปยางชนิดต่างๆ                            สำหรับนโยบายสำคัญที่ยุทธพงศ์ให้กับหน่วยงานนี้คือ การเร่งรัดดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลในอีก 3 ปีข้างหน้าให้มีประสิทธิภาพ ตลอดจนดำเนินการด้านยางพาราอย่างครบวงจร ตั้งแต่ระดับต้นน้ำ  กลางน้ำ  และปลายน้ำ พร้อมเตรียมองค์กรเพื่อรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ใน 2 ปีข้างหน้า ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกยางรายใหญ่ของโลก ซึ่งจะต้องมีการแข่งขันสูง และประเทศไทยต้องรักษาความเป็นผู้นำดังกล่าวไว้ จึงต้องมีการเตรียมการและวางแผนที่ดีในการผลิตยางพาราให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ                             รมช.เกษตรฯ ย้ำว่า ยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย  และสามารถทำรายได้เข้าสู่ประเทศไทยปีละประมาณ 4 แสนล้านบาท   รัฐบาลจึงให้ความสำคัญในการกำหนดยุทธศาสตร์ยางพาราครบวงจร โดยเน้นเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การพัฒนาเกษตรกรชาวสวนยาง  การพัฒนาตลาดยาง และการเพิ่มมูลค่าการผลิต                             "สถานการณ์ยางพาราในปี 2556 ราคายางพารามีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งผลสืบเนื่องจากนโยบายรถยนต์คันแรกของรัฐบาล ประกอบกับเศรษฐกิจของโลกมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ทำให้ปริมาณการใช้ยางธรรมชาติแทนยางสงเคราะห์มีมากขึ้นด้วย และเพื่อเป็นการส่งเสริมการใช้ยางพาราในประเทศและการเพิ่มมูลค่ายางพารา ก็ได้มีนโยบายในการส่งเสริมอุตสาหกรรมการแปรรูปยางพารา การศึกษาวิจัย ตลอดจนการเจรจาร่วมลงทุนกับต่างประเทศ อาทิ ประเทศอินโดนีเซีย และมาเลเซียการพัฒนา Rubber City เพื่อนำไปสู่การเป็นประเทศที่สามารถกำหนดราคายางพาราในภูมิภาค และเตรียมความพร้อมสู่เออีซีต่อไป"                            ส่วนองค์การสะพานปลา หรือ อสป. ยุทธพงศ์ก็ประกาศเดินหน้าในการพลิกโฉมองค์การสะพานปลาครั้งใหญ่ ด้วยการเร่งดำเนินการโครงการพัฒนาสะพานปลากรุงเทพฯ ให้เป็นตลาดกลางสัตว์น้ำที่ทันสมัย และเป็นศูนย์รวมธุรกิจประมงของประเทศไทย โดยมีสินค้าสัตว์น้ำนานาชนิด ทั้งสัตว์น้ำมีชีวิต สัตว์น้ำสดและแปรรูป ที่มีคุณภาพสูง สะอาด ถูกสุขอนามัย อีกทั้งยังเป็นศูนย์การเรียนรู้แห่งใหม่ในบรรยากาศติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา และมีภูมิทัศน์สวยงามในอนาคต                            นอกจากนี้ ยังให้ อสป.ไปจัดทำแผนเพื่อพัฒนาศักยภาพสะพานปลาที่มีอยู่ทั่วประเทศจำนวน 14 แห่ง ที่มีโอกาสพัฒนาในเชิงธุรกิจได้ โดยเฉพาะสะพานปลาใน จ.ระนอง และสตูล ที่จะรองรับสินค้าประมงจากพม่า เป็นศูนย์กระจายสินค้าประมงในภูมิภาคของไทยไปอาเซียนรองรับเออีซี รวมทั้งให้พัฒนาระบบบริหารจัดการให้ครอบคลุมกิจการที่เกี่ยวข้องทุกด้าน                            พร้อมทั้งให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนชาวประมงและอุตสาหกรรมการประมงให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงสภาวะเศรษฐกิจที่มีการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมทั้งการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ หรือการขนส่งผลิตภัณฑ์สินค้าสัตว์น้ำให้มีความทันสมัยไปสู่จุดหมายด้วยความสะดวกรวดเร็ว สดใหม่ ถูกหลักสุขอนามัย ตลอดจนหาวิธีลดต้นทุนในการขนส่งและการให้สินเชื่อผู้ประกอบการในอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์การประมงอันจะทำให้ชาวประมงและผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องมีความมั่นคงในอาชีพและมีฐานะที่ดีขึ้น                             รมช.เกษตรฯ ได้ย้ำกับผู้บริหาร อสป.ระหว่างมอบนโยบายถึงการปรับปรุงองค์การเพื่อเตรียมพร้อมในการเข้าสู่เวทีประชาคมอาเซียน (เออีซี) ในอีก 2 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะปัญหาด้านแรงงานประมงขาดแคลน โดยเชื่อมั่นว่าหากได้รับความร่วมมือจากพนักงานและเจ้าหน้าที่ขององค์การสะพานปลาในการดำเนินตามนโยบายอย่างจริงจังจะเป็นการพลิกโฉมองค์การสะพานปลาครั้งสำคัญอย่างแน่นอน                            ทว่าการขับเคลื่อนนโยบายสู่ 3 รัฐวิสาหกิจหลักที่มีผลต่อภาคเกษตรไทย ภายใต้การกำกับดูแลของยุทธพงศ์ในครั้งนี้ นอกจากจะนำพาองค์กรรัฐวิสาหกิจด้านอุตสาหกรรมยางและอุตสาหกรรมประมงของไทยให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืนแล้วยังเป็นก้าวสำคัญในการพลิกโฉมรัฐวิสาหกิจภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้มีมาตรฐานและก้าวกระโดดไปข้างหน้าเพื่อรับการเข้ามาของประชาคมอาเซียนในอีก 2 ปีข้างหน้าอีกด้วย     -------------------- (ยุทธการเร่งผลักดัน 3 รัฐวิสาหกิจ เสริมความแกร่งรับเออีซีอีก 2 ปี : โดย...สุรัตน์ อัตตะ)      

No comments:

Post a Comment

Blog Archive