Monday, February 4, 2013

EUรับจดทะเบียนจีไอหอมมะลิไทย

EUรับจดทะเบียนจีไอหอมมะลิไทย
                          4 ก.พ. 56  นางปัจฉิมา ธนสันติ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (จีไอ) ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ในสหภาพยุโรป (อียู) ว่า ขณะนี้สหภาพยุโรป (อียู) ได้พิจารณาและรับที่จะจดทะเบียนจีไอข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ให้กับไทยแล้ว โดยอยู่ระหว่างการยกร่างประกาศเป็นภาษาต่างๆ ที่ใช้ในอียู และคาดว่าจะประกาศได้ในเร็วๆ นี้ ซึ่งจะทำให้ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ของไทยเป็นสินค้าจีไอตัวแรกของเอเชียที่จดทะเบียนในอียูได้ และเป็นที่ 3 ของโลก รองจากชาของอินเดียและกาแฟของโคลัมเบีย                           ทั้งนี้ อียูได้รับจดจีไอตามที่ไทยได้ยื่นเสนอ ทั้งการรับจดคำว่า ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ โดยไม่ตัดคำส่วนใดส่วนหนึ่งออกไป หลังจากที่ไทยได้ยืนยันว่าจะต้องใช้คำที่ยื่นจดทั้งหมด และยังกำหนดให้มีการบรรจุในพื้นที่ที่เป็นแหล่งผลิตเท่านั้น เพื่อให้ได้ข้าวที่มีคุณภาพมาตรฐานเป็นไปตามมาตรฐานสินค้าจีไอที่ไทยกำหนดไว้                           "เมื่ออียูรับจดจีไอแล้ว จะทำให้ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ของไทยสามารถติดตรารับรองของอียูได้ ซึ่งจะช่วยในการโปรโมทข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ใน 5 จังหวัดไทย ได้แก่ ร้อยเอ็ด ยโสธร สุรินทร์ มหาสารคาม และศรีสะเกษ และยังทำให้ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ได้รับการรับรองว่าเป็นสินค้าระดับพรีเมียม และมีมูลค่าเพิ่ม เพราะผู้บริโภคในอียูให้ความสำคัญกับสินค้าจีไอ ซึ่งเป็นสินค้าที่ผลิตได้เฉพาะในท้องถิ่นนั้นๆ ท้องถิ่นอื่นจะผลิตสินค้าโดยใช้ชื่อเดียวกันไม่ได้ และยังจะช่วยให้การส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ทำได้ดีขึ้น"                           อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการประกาศความสำเร็จ ในระหว่างที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะเดินทางไปเยือนเบลเยี่ยมในช่วงต้นเดือน มี.ค. 56 จะมีการจัดกิจกรรมเพื่อแสดงความยินดีที่ไทยได้รับการจดจีไอข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ในอียูด้วย                           นางปัจฉิมา กล่าวว่า สำหรับสินค้าตัวอื่นๆ กรมฯ กำลังติดตามการยื่นคำขอจดจีไอกับสินค้าอีก 2 รายการ คือ กาแฟดอยช้าง และกาแฟดอยตุง โดยขณะนี้อียูกำลังประกาศโฆษณา หากภายใน 6 เดือน หากไม่มีการคัดค้าน ก็จะได้รับการจดทะเบียนเป็นรายการต่อไป ขณะเดียวกัน กรมฯ กำลังจะยื่นจดทะเบียนข้าวสังหยดเมืองพัทลุงอีก เพราะเห็นว่าน่าจะได้รับการจดทะเบียนได้ไม่ยาก เนื่องจากเป็นข้าวสี ไม่ใช่ข้าวขาว มีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด และประเทศอื่นไม่มี                           สำหรับการจดทะเบียนจีไอข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ในอียู กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ร่วมกับกรมการค้าต่างประเทศ กรมการข้าว ในการยื่นขอจดจีไอตั้งแต่ปี 2551 หลังจากนั้น ได้มีประเทศสมาชิกอียู 5 ประเทศ ได้แก่ อิตาลี อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และเบลเยียม ได้ยื่นคัดค้าน โดยขอให้ไทยตัดคำว่า ข้าวหอมมะลิ ออก ให้ใช้แต่คำว่า ทุ่งกุลาร้องไห้ และขอให้สามารถบรรจุที่อื่นได้ นอกจากในพื้นที่ที่ผลิต แต่ไทยก็ได้ยื่นคัดค้านหลายต่อหลายครั้ง และได้ไปชี้แจงกับสมาชิกอียูทั้ง 5 ประเทศ เพื่อให้เกิดความเข้าใจ จนในที่สุดก็ได้รับการจดจีไอ      

No comments:

Post a Comment

Blog Archive