Wednesday, February 6, 2013

ดันอาราบิก้าเทียบชั้นบลูเมาท์เทน

ดันอาราบิก้าเทียบชั้นบลูเมาท์เทน
                          ท่ามกลางกระแสการบริโภคกาแฟสดกำลังมาแรง ทำให้นักวิจัยจากคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ทำการวิจัยพัฒนาสายพันธุ์กาแฟ "อาราบิก้า" ภายใต้ "โครงการการคัดเลือกพันธุ์กาแฟอาราบิก้าเพื่อรับรองสายพันธุ์ที่เหมาะสมสำหรับพื้นที่สูง" มี "รศ.ดร.พงษ์ศักดิ์  อังคสิทธิ์" เป็นผู้อำนวยการโครงการ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. ผลจากการทดลองปลูกที่สถานีศูนย์ช่างเคียน บนดอยปุย ต.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ พบว่า สายพันธุ์ "คันทิมอร์" เหมาะสมที่สุด นอกจากนี้มีการพัฒนาด้านการชงให้มีรสชาติอร่อยให้เทียบใกล้เคียงกับอาราบิก้าอันดับหนึ่งของโลก "บลูเมาเท่น" ของจาเมกาอีกด้วย                           รศ.ดร.พงษ์ศักดิ์ บอกว่า ที่จริงประเทศไทยมีการนำกาแฟพันธุ์อาราบิก้ามาทดลองปลูกมาตั้งแต่ปี 2514 เนื่องจากเห็นว่า ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ มีชาวเขาเผ่าต่างๆ อาศัยอยู่บนพื้นที่ราบสูงจำนวนมากเกือบ 2 แสนคน ตามดอยต่างๆ ที่มีระดับความสูงจากน้ำทะเลปานกลาง 1,000-1,200 เมตร ทำอาชีพเพาะปลูกแบบไร่เลื่อนลอย ที่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมในพื้นที่อย่างมาก จึงต้องการส่งเสริมให้ชาวเขาเหล่านี้หันมาปลูกกาแฟแทน ช่วงแรกที่นำกาแฟอาราบิก้ามาปลูก ประสบปัญหาด้านโรคที่ใบเรียกว่า โรคราสนิม                           กระทั่งเมื่อ 10 ปีก่อน กระแสความนิยมบริโภคกาแฟสดกำลังมาแรง ทางคณะนักวิจัยจากคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ร่วมมือกันพัฒนาโครงการในเขตพื้นที่สูง โดยมีแนวคิดนำร่องโครงการทดลอง ศึกษาวิจัยและคัดเลือกพันธุ์กาแฟอาราบิก้าที่เหมาะสมกับพื้นที่สูงของไทยขึ้นมา เพื่อให้ได้สายพันธุ์ที่สามารถเจริญเติบโตได้ดี มีความต้านทานโรคและแมลง และผลผลิตมีคุณภาพในระดับดีมาก สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตภายในเวลาอันสั้น เพื่อเป็นการช่วยสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรอย่างยั่งยืน ซึ่งโครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณ สวก.                           ที่สำคัญในการดำเนินโครงการการคัดเลือกพันธุ์กาแฟอาราบิก้าเพื่อรับรองสายพันธุ์ที่เหมาะสมสำหรับพื้นที่สูงนั้น เพื่อต้องการให้กาแฟอาราบิก้าจากไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ หากกาแฟสายพันธุ์นี้ได้ทดลองปลูกเป็นผลสำเร็จ คาดว่าต่อไปจะเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มสดใสและมีราคาสูง และจะเป็นที่นิยมของผู้บริโภค โดยเฉพาะตลาดในต่างประเทศ ซึ่งนอกจากจะได้กาแฟที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับพื้นที่สูงแล้ว จะต้องมีการพัฒนาให้รสชาติอร่อยอีกด้วย จากการทดลองปลูกในพื้นที่สถานศูนย์วิจัยและอบรมที่สูง หรือที่เรียกว่า ศูนย์ช่างเคี่ยน บนดอยปุย ต.ช้างคลาน อ.เมือง จ.เชียงใหม่ พบว่า สายพันธุ์คาทิมอร์ เป็นสายพันธุ์ที่เหมาะสมที่สุด เป็นกาแฟอาราบิก้าลูกผสมระหว่างอาราบิก้าแท้ 99% กับโรบัสตร้าอีก 1%                           "ในบ้านเรามีพันธุ์กาแฟอาราบิก้าอีกเยอะ ถ้ารู้จักปรับปรุงสายพันธุ์กาแฟของเราก็ไม่แพ้กาแฟต่างประเทศ ตอนนี้เราใกล้จะถึงการรวมประเทศภายใต้กรอบประชาคมอาเซียน หรือเออีซี ฉะนั้นเราปรับปรุงคุณภาพของกาแฟบ้านเราในทุกด้าน เพราะอย่าลืมว่าประเทศเพื่อนบ้านของเราอย่าง ส.ป.ป.ลาว ก็มีกาแฟอาราบิก้าที่มีคุณภาพดีเช่นกัน ขณะที่ประเทศเวียดนามปลูกกาแฟพันธุ์โรบัสต้า มากที่สุดอันดับต้นๆ ของโลกด้วย" รศ.ดร.พงษ์ศักดิ์ กล่าว                           ส่วนการชงให้รสชาติอร่อยนั้น ชวลิต กอสัมพันธ์ หนึ่งในทีมงานวิจัย บอกว่า จะเน้นการชงให้รสชาติอร่อยต้องเป้าไว้ว่า ต้องมีรสชาติที่ใกล้เคียงที่สุดกับกาแฟสดบลูเมาเท่น ซึ่งเป็นกาแฟพันธุ์อาราบิก้าของประเทศจาเมกา ทั้งนี้กาแฟที่ชงจะให้อร่อยนั้น ต้องมาจากกาแฟที่มีคุณภาพของเมล็ดกาแฟด้วย จากที่ดำเนินการภายใต้โครงการนี้ ได้รสชาติในระดับที่ 75 แต่เราเดินหน้าต่อไปให้ระดับ 80 จึงมั่นใจว่า หลังจากนี้ไปอีก 5 ปี จะสามารถพัฒนารสชาติกาแฟอาราบิก้าของไทยได้ตามที่เป้าที่ต้องการได้แน่นอน     -------------------- (ดันกาแฟอาราบิก้าสู่รสชาติชั้นเลิศ ตั้งเป้าใกล้เคียง 'บลูเมาท์เทน' : โดย...ดลมนัส กาเจ)      

No comments:

Post a Comment

Blog Archive