Friday, February 8, 2013

หนักเอาเบาสู้ : ปลูกยาสูบเลี้ยงชีวิต

หนักเอาเบาสู้ : ปลูกยาสูบเลี้ยงชีวิต
                          ขณะที่นโยบายของรัฐได้รณรงค์ต่อต้านการสูบบุหรี่และห้ามการโฆษณาในทุกบริบทของสังคม อีกทั้ง มีความพยายามจะลดพื้นที่ปลูกยาสูบและหาพืชอื่นปลูกทดแทน ซึ่งแนวทางนี้บั่นทอนความรู้สึกและความเป็นอยู่ของเกษตรกรจำนวนไม่น้อย รวมทั้ง "สมนึก ยิ้มปิ่น" ชาวไร่ยาสูบชาวสุโขทัย และอีกหนึ่งบทบาทผู้จัดการสมาคมชาวไร่ยาสูบฯ ที่ดิ้นรนต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของอาชีพนี้ เพราะมองว่า "ยาสูบ" นอกจากสร้างรายได้หลักเลี้ยงเกษตรกรในพื้นที่มาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษแล้ว ยังเป็นอาชีพที่สมควรอนุรักษ์ไว้                           "สมนึก ยิ้มปิ่น" ในวัย 50 ปีเศษ ย้อนอดีตให้ฟังว่า เป็นชาวสุโขทัยโดยกำเนิด ครอบครัวยึดทำไร่ยาสูบมาตลอดชีวิต เพราะเป็นอาชีพที่ตกทอดมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ ปัจจุบันทำอยู่ประมาณ 6 ไร่เศษ ในพื้นที่บ้านทับผึ้ง ต.ทับผึ้ง อ.ศรีสำโรง จ.สุโขทัย โดยปลูกยาสูบพันธุ์เบอร์เลย์ ซึ่งพื้นที่ อ.ศรีสำโรง นับเป็นแหล่งปลูกมากที่สุดของประเทศไทย โดยมีเกษตรกรยึดทำไร่ยาสูบสายพันธุ์นี้ถึง 3.1 หมื่นคน                           ตลอดเวลาที่ผ่านมาเกือบทั้งชีวิต สมนึก ยอมรับว่า การปลูกยาสูบถือเป็นอาชีพหลักที่สร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวมาตลอด โดยเฉพาะกับวิถีการดำเนินชีวิตของลูกๆ ทั้ง 2 ที่ต่างประสบผลสำเร็จด้านการศึกษาจากการยึดทำอาชีพนี้ รวมทั้งความเป็นอยู่ก็ไม่ขัดสน ถึงแม้ว่าการทำไร่ยาสูบจะมีขั้นตอนเยอะ คือเริ่มจากปลูกต้นกล้า ย้ายปลูกลงแปลง คอยดูแลวัชพืชไม่ให้ปกคลุม ใส่ปุ๋ย เก็บเกี่ยวผลผลิต เข้าสู่การบ่มที่ต้องนำใบยาสูบเสียบไม้ ก่อนนำขึ้นบ่มบนโรงเรือน ฯลฯ กระทั่งจำหน่าย รวมเวลา 4 เดือน (ต.ค.-มี.ค) นั่นไม่ใช่ปัญหาแม้จะเจอภาวะแล้งก็ตาม เพราะพืชยาสูบไม่กล้วแล้ง แต่อัตราเสี่ยงจะสูงคือฝนตกในพื้นที่ ซึ่งนั่นหมายว่าความเสียหายหนักจะมาเยือนเกษตรกรในทันที                           "เฉลี่ยรายได้หักค่าใช้จ่ายอยู่ที่ราว 2 หมื่นบาท/ไร่ โดยส่งผลผลิตใบยาแห้งให้โรงงานยาสูบซึ่งเขาการันตีไว้ที่ 400 กก./ไร่ แต่ปกติที่ผ่านมาเกษตรกรจะทำได้มากกว่า 500 กก./ไร่ และราคาปีนี้ 2556 สูงสุดอยู่ที่ 67 บาท/กก. ปีที่แล้ว 60 บาท/กก. เฉลี่ยต่อต้นถ้าขายให้โรงงานยาสูบอยู่ที่ 65 บาท/กก. เป็นรายได้ที่ค่อนข้างสูงยังไม่มีพืชใดมาทดแทนพืชนี้ได้" สมนึก แจง                           พร้อมยอมรับในฐานะผู้จัดการสมาคมชาวไร่ยาสูบเบอร์เล่ย์ จ.สุโขทัย ว่าไม่เฉพาะปัญหาฝนตกหนักในพื้นที่จะนำความเสียหายมาสู่เกษตรกร ทว่า การที่ภาครัฐพยายามลดพื้นที่ปลูกยาสูบ และมุ่งเน้นหาพืชอื่นมาปลูกทดแทน อีกทั้ง จำกัดสิทธิ บทบาท ของเกษตรกรในทุกบริบทของสังคมนั้นนับเป็นปัญหาใหญ่ที่เกษตรกรผู้ปลูกยาสูบททั่วประเทศกำลังประสบหนักมากกว่า                           "ทำไร่ยาสูบมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย เป็นอาชีพหลักที่เรายึดปฏิบัติมาโดยตลอด นี่เป็นวิถีอาชีพดั้งเดิมของชาวไร่อย่างเราๆ ซึ่งในมุมมองของผม มองว่าเป็นวัฒนธรรมไปแล้ว และอาชีพนี้ก็สมควรจะอนุรักษ์ไว้ด้วย"     -------------------- (หนักเอาเบาสู้ : ปลูกยาสูบเลี้ยงชีวิต-อนุรักษ์ วิถีสร้างอาชีพ 'สมนึก ยิ้มปิ่น' : โดย...ธานี กุลแพทย์)      

No comments:

Post a Comment

Blog Archive