Monday, February 4, 2013

สวทช.ขอ6เดือนยกระดับเมล็ดพันธุ์ไทย

สวทช.ขอ6เดือนยกระดับเมล็ดพันธุ์ไทย
               วันที่ 4 ก.พ. 2556 นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานเปิดการประชุม "คลัสเตอร์เมล็ดพันธุ์" เพื่อติดตามความก้าวหน้าของงานวิจัย จากภาครัฐและเอกชน ต่อการพัฒนาเทคโนโลยีเมล็ดพันธุ์เพื่อสร้างโอกาสด้านการส่งออก โดยภายในงานดังกล่าว รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์ได้หารือกับรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เกี่ยวกับวิสัยทัศน์และมุมมองของอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ในระดับโลก ตลอดจนแนวทางในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของเมล็ดพันธุ์ในระดับอาเซียน                อุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ เป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำที่กระทบรายได้ของประชาชน ความมั่นคงทางอาหารและความมั่นคงของประเทศ ซึ่งหากมีแนวทางในการสนับสนุนอย่างถูกต้อง ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการเป็นศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์เขตร้อนของอาเซียน เนื่องจากประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตเมล็ดพันธุ์พืชที่มีความหลากหลาย ตลอดจนมีความพร้อมด้านการพัฒนาเทคโนโลยีส่งเสริมการผลิต                ที่ผ่านมา สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้จัดตั้งโปรแกรมเมล็ดพันธุ์ขึ้น เพื่อวิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์ต้นแบบ ตลอดจนส่งเสริมตราสินค้า โดยตั้งเป้าสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจเมล็ดพันธุ์ ไว้ที่ 5 พันล้านบาทในปี 2559 ภายใต้แผนยุทธศาสตร์เมล็ดพันธุ์ ซึ่งมีทิศทางการดำเนินงานที่ชัดเจน                “การกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนให้กับภาคอุตสาหกรรม จะช่วยเพิ่มบรรยากาศการลงทุนของเอกชนให้มากขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิต แปรรูปอาหารและการเกษตร ซึ่งตลาดส่งออกมีความต้องการสูง” ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าว                ทั้งนี้ กระทรวงวิทย์ได้เดินหน้าจัดทำยุทธศาสตร์เมล็ดพันธุ์ของชาติ 2554-2559 โดยนำข้อสรุปที่ได้จากแต่ละกลุ่มเมล็ดพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็น ข้าวโพด พริก มะเขือเทศ และแตงกวา นำมาใช้กำหนดทิศทาง การส่งเสริมกระบวนการผลิตด้วยเทคโนโลยี การส่งต่อเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพถึงมือเกษตรกร รวมถึงช่องทางการจัดจำหน่าย โดยความร่วมมือกับกระทรวงเกษตร และกระทรวงพาณิชย์                การส่งเสริมเมล็ดพันธุ์ของชาติจะต้องเข้มข้นขึ้น โดยเชื่อว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 6 เดือน ในการกำหนดยุทธศาสตร์ ที่มีความชัดเจน และทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐเอกชน รวมถึงมหาวิทยาลัย                “การแข่งขันในระดับอาเซียนต้องรู้จุดแข็งของแต่ละประเทศ เพื่อต่อกรกับกลุ่มอียู อเมริกา ญี่ปุ่น หรือแม้แต่จีน ซึ่งแนวทางที่ประเทศไทยควรส่งเสริม คือการลดใช้สารเคมี และหันมาใช้เทคโนโลยีชีวภาพ จุลินทรีย์ หรือเทคโนโลยีอื่นๆ ซึ่งจะช่วยทำให้ประเทศไทยเข้มแข็งได้ใน 2 ปี” รมว. ก.วิทย์ กล่าว และว่า ประเทศไทยควรมียุทธศาสตร์ดิน ยุทธศาสตร์ปุ๋ย นวัตกรรมการเกษตร โดยมุ่งเน้นการพัฒนาเมล็ดพันธุ์ที่มีศักยภาพสูง เช่น พริกสายพันธุ์ใหม่ที่ให้ผลผลิตสูง เป็นทางเลือกให้กับตลาด มะเขือเทศพันธุ์ต้านทานโรค รวมถึงปุ๋ยที่สามารถควบคุมการปลดปล่อยสารอาหารในระยะเวลาที่พืชต้องการได้                นายวรวัจน์ มองว่า ตลาดเมล็ดพันธุ์ในอาเซียนเป็นตลาดใหญ่ที่ประเทศไทยต้องให้ความสำคัญ โดยนอกจากเมล็ดพันธุ์แล้ว การแปรรูปวัตถุดิบทางการเกษตรให้อยู่ในรูปแบบสินค้า อาทิ เจลพริกแก้อาการปวด ยังช่วยเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับอุตสากรรมการแพทย์ ซึ่งตัวเขาเองมองว่าเป็นอีกแนวทางที่น่าสนใจ                ทั้งนี้ การประชุมคลัสเตอร์เมล็ดพันธุ์ดังกล่าว จัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-5 ก.พ. 2556 ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย โดยมีตัวแทนนักวิจัยจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจน เกษตรกร ให้ความสนใจเข้างานกว่า 200 คน

No comments:

Post a Comment

Blog Archive