Friday, February 1, 2013

ไก่เคยูเบตงเมนูแนะนำต้มอบ

ไก่เคยูเบตงเมนูแนะนำต้มอบ
                          หลังจากที่ภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ได้วิจัยพัฒนาสายพันธุ์ไก่พื้นบ้าน "เบตง" เมื่อ 6 ปีก่อน ปรากฏว่า ทีมงานวิจัยประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี สามารถปรับปรุงสายพันธุ์เหมือนเดิม ทั้งการเจริญเติบโต และรสชาติของเนื้อ ผลจากการทดลองแปรรูปทำเป็นไก่ต้มเกลือ และอบ ออกร้านขายในงานเกษตรแฟร์เมื่อ 3 ปีก่อน ทำให้คนรู้จักไก่เบตง ในนาม "ไก่เคยู-เบตง" เป็นอย่างดี จึงนำไปส่งเสริมให้เกษตรกรไปเลี้ยง พร้อมให้นิสิตคณะเกษตรไปเลี้ยงครบวงจร ตั้งแต่การฟักไข่ เลี้ยงในโรงเรือน และแปรรูปทำเป็นไก่ต้มเกลือ ไก่อบขายเอง ล่าสุดมีบริษัทผลิตอาหารยักษ์ใหญ่ติดต่อให้ผลิตไก่เคยู-เบตง เพื่อวางขายในห้างสรรพสินค้า                           รศ.ดร.ชัยภูมิ บัญชาศักดิ์ หัวหน้าภาคสัตวบาล คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) บางเขน กรุงเทพฯ บอกว่า ตามปกติที่ภาควิชาสัตวบาล จะมีสัตว์เลี้ยงไว้หลายชนิด อย่างไก่พื้นเมืองจากท้องถิ่นต่างๆ มีมากว่า 30 ปีแล้ว รวมถึงไก่เบตงที่มีชื่อเสียงทางภาคใต้ที่ อ.เบตง จ.ยะลาด้วย ซึ่งเลี้ยงไว้ให้นิสิตภาควิชาสัตวบาลได้ศึกษาถึงสายพันธุ์ของไก่เหล่านี้ กระทั่ง 6 ปีก่อนกระแสการนิยมบริโภคไก่พื้นเมืองกำลังมาแรง จึงมองว่าในบรรดาไก่พื้นเมืองสายพันธุ์ต่างๆ ที่คณะเกษตรมีอยู่นั้น มีไก่เบตง น่าสนใจที่สุด เนื่องจากสรรพคุณในด้านรสชาติของไก่เบตงลือชื่อมากว่า 30 ปีแล้ว คือมีคุณสมบัติพิเศษตรงหนังหนากรอบ เนื้อนุ่มกลมกล่อม และมีกลินหอมเฉพาะตัวที่น่ารับประทาน เนื้อแน่นกว่าไก่เนื้อ แต่ความเหนียวน้อยกว่าไก่บ้านทั่วไป ที่สำคัญตัวใหญ่ โตเร็วด้วย แต่ปัจจุบันไก่เบตงแทบจะไม่มีการเลี้ยงในเชิงการค้าแล้ว                           ในที่สุดเมื่อ 6 ปีก่อน ภาควิชาสัตวบาลได้วิจัยและปรับปรุงสายพันธุ์เพื่อให้คงที่ ทั้งการเจริญเติบโต และรสชาติของเนื้อ โดยหวังว่าหากประสบผลสำเร็จจะสามารถส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงเป็นอาชีพและสร้างรายได้ในอนาคต จนเวลาผ่านไป 3 ปี จึงค่อนข้างมั่นใจว่า 90% ผลผลิตออกมาคงที่ จึงทดลองแปรรูปออกมาสู่เชิงการค้า เบื้องต้นแปรรูปทำเป็นไก่เคยู-เบตงต้มเกลือ และอบ พบว่ารสชาติอร่อยเนื้อนุ่ม จึงลองออกร้านในงานเกษตรแฟร์ปี 2553                           ถัดมาอีกปีไปออกร้านในงานโครงการหลวง ที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ราชประสงค์ กรุงเทพฯ ปรากฏว่าได้รับความสนใจจากคนทั่วไปได้เป็นอย่างดี ทำให้ไก่เคยู-เบตง เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายและเป็นที่ต้องการของตลาด จึงขยายพันธุ์ทำฟาร์มใน มก.บางเขน โดยมอบหมายให้ "สมบัติ ประสงค์สุข" นักวิชาการเกษตรทีมปรับปรุงพันธุ์และดูแลโครงการขยายพันธุ์ไก่เคยู-เบตง มก.เป็นผู้รับผิดชอบ ปัจจุบันสามารถผลิตลูกไก่ได้สัปดาห์ละราว 2,000 ตัว                           "ผลการวิจัยของเรา พบว่าไก่เคยู-เบตงให้เนื้อมากกว่าไก่พื้นเมืองทั่วไป 20% ไข่มันน้อยกว่า 30-40% เนื้อนุ่มอร่อย กลิ่นหอม เวลารับประทานทำให้กลมกล่อม ตรงนี้เราตัดสินใจผลิตลูกพันธุ์ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยง สามารถเลี้ยงได้แบบปล่อย หรือเลี้ยงในโรงเรือนก็ได้ เมื่อปีที่แล้ว (ปี2555) เราขยายเครือข่ายสู่เกษตรกร 3 ราย จำนวน 400 ตัว เลี้ยงไว้ที่ อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา จากการติดตามผลพบว่า ไก่ที่เกษตรกรเลี้ยงเจริญเติบโตได้ดี นอกจากนี้เราให้นิสิตเลี้ยงด้วย เลี้ยงตั้งแต่ต้น ดูแลเอง พอไก่ได้อายุ นิสิตนำไปแปรรูปทำเป็นไก่เคยู-เบตงส้มเกลือและอบขายภายใน มก.กันเอง โดยมหาวิทยาลัยหักต้นทุน ส่วนกำไรเข้ากิจกรรมของนิสิต" รศ.ดร.ชัยภูมิ ก่ล่าว                             หัวหน้าภาคสัตวบาล คณะเกษตร มก.บอกความคืบหน้าว่า ล่าสุดได้มีเอกชนรายใหญ่ที่ประกอบการด้านอาหาร มาติดต่อให้ผลิตลูกไก่ อีกส่วนหนึ่งให้ผลิตไก่เคยู-เบตง ที่ได้ขนาดเข้าโรงฆ่าสัตว์ โดยบริษัทเอกชนรายนี้จะนำไก่เคยู-เบตง จำหน่ายตามห้างสรรพสินค้าชั้นนำ เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีการวางขายในท้องตลาดมากนัก ขณะนี้กำลังหารือในรายละเอียด และคำนวณมาว่าฟาร์มของคณะเกษตร มก.จะสามารถผลิตได้ตามที่เอกชนต้องการหรือไม่                           ด้าน สมบัติ ประสงค์สุข บอกว่า การเลี้ยงไก่เคยู-เบตง จะเริ่มเลี้ยงตั้งแต่ลูกไก่อายุเพียง 1 วัน โดยลูกไก่พันธุ์ที่ผลิตทุกวันนี้ราคาอยู่ที่ตัวละ 35 บาท เกษตรกรสามารถนำไปเลี้ยงโดยให้อาหารเหมือนกับการเลี้ยงไก่เนื้อทั่วไป แต่ไก่เคยู-เบตง เลี้ยงง่ายกว่าเลี้ยงไก่พันธุ์เนื้อทั่วไป เนื่องจากไม่ค่อยมีโรคระบาด และโตเร็วกว่า โดยไก่เคยู-เบตงตัวเมียจะมีน้ำหนักตัวละ 2.5 กก. ส่วนตัวผู้โตเต็มที่ตัวละ 3.5 กก. เฉลี่ยแล้วลงทุ 100 บาท ต่อน้ำหนักไก่ 1 กก. หากขายท้องตลาดราคาจะตกที่ กก.ละ 150-160 บาท หากมีการแปรรูปทำเป็นไก่ต้มเกลือและอบละ 350-450  บาท                              ความสำเร็จในการปรับปรุงสายพันธุ์ไก่เบตงของคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ภายใต้สายพันธุ์ใหม่ไก่เคยู-เบตง นับเป็นอีกช่องทางเลือกของเกษตรกรที่จะนำไปเลี้ยงเป็นอาชีพและสร้างรายได้ให้ครอบครัว เนื่องจากไก่เคยู-เบตง ยังเป็นที่ต้องการของตลาด   -------------------- สูตรเด็ด "ไก่เคยู-เบตงต้มเกลือ"                           ดาริส ชูเกียรติวงศ์กุล นิสิตคณะเกษตร สาขาวิชาสัตวบาล มก.บอกว่า เข้าร่วมกิจกรรมโครงการขยายพันธุ์ไก่เคยู-เบตง โดยเริ่มจากการเลี้ยงไก่เองตั้งแต่ต้น และนำมาแปรูปรูเองทำเป็นไก่เคยู-เบตง ต้มเกลือ และอบ จำหน่ายที่ร้านไก่อบเคยู-เบตง ติดกับฟาร์มเลี้ยงไก่ของภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตรภายใน มก.บางเขน โดยจะวางขายทุกวันจันทร์เวลา 08.00-16.00 น.และวันศุกร์ตั้งแต่เวลา 16.00 น.เป็นต้นไป มีทั้งไก่ต้มและไก่อบ ขายปลีกเป็นจาน และขายเป็นตัวราคาตัวละ 350-450 บาท                           สำหรับสูตรไก่เคยู-เบตง จะเลือกไก่ที่มีน้ำหนัก 2.5 กก.ขึ้นไป มีอายุราว 4-5 เดือน หากเป็นไก่อบตัวเล็กกว่าเลี้ยง 2.5-3 เดือน จะได้ไก่ขนาด 1.2-1.5 กก. ส่วนการแปรรูปนั้น หลังจากผ่านการชำแหละแล้ว จะทอนขนให้เกลี้ยง จากนั้นจะผ่าเอาเครื่องในออก นำไปใส่หม้อต้ม เติมน้ำให้ท่วมตัว ใส่เกลือ 1 ช้อนโต๊ะ ใช้เวลาต้มครึ่งชั่วโมงจนไก่ลอยขึ้นถือว่าไก่สุกแล้ว แต่ยังไม่เต็มที่                           หลังจากต้มสุกแล้ว นำไปใส่หม้ออบ ปิดฝาให้แน่น ใช้เวลาอบครึ่งชั่วโมง เตรียมน้ำเย็นที่ใส่น้ำแข็งแล้วนำไก่ที่กำลังร้อนลงไปน็อกในน้ำเย็น และทำความสะอาดในน้ำเย็นจะได้ไก่เคยู-เบตงที่หนังกรอบ เนื้อหนุ่มกลิ่นหอม นำไปจิ้มน้ำปลา หรือซีอิ๊ว หากต้องการเผ็ดหั่นพริกขี้หนูใส่ นำมาบริโภคได้แล้ว โดยไก่ 1 ตัว สามารถสับขายได้ 10 จาย ขายจานละ 60 บาท เท่ากับ 1 ตัวแปรรูปแล้วจะได้ตัวละ 600 บาท                           อย่างไรก็ตาม ดาริส ฝากบอกว่า หากต้องการไก่เคยู-เบตงต้ม หรืออบที่เป็นตัว ต้องสั่งจองล่วงหน้า 1 วัน ที่คุณแหน๋ม โทร.08-1966-8015   -------------------- (เลี้ยงไก่ 'เคยู-เบตง' ครบวงจร แปรรูปเอง 'ต้ม-อบ' เมนูแนะนำ : โดย...ดลมนัส  กาเจ)      

No comments:

Post a Comment

Blog Archive