Wednesday, February 6, 2013

เกษตรฯประกาศเขตโซนนิ่งพืช6ชนิด

เกษตรฯประกาศเขตโซนนิ่งพืช6ชนิด
               5ก.พ.2556 นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง การกำหนดเขตเหมาะสมสำหรับการปลูกพืช 6 ชนิดได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน อ้อยโรงงาน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เรียบร้อยแล้ว โดยวิเคราะห์ความเหมาะสมของที่ดินกับปัจจัยความต้องการของพืชแต่ละชนิดตาม สภาพที่มีการเพาะปลูกพืชแต่ละชนิดในปัจจุบันร่วมกับปัจจัยที่เกี่ยวข้อง อื่นๆ เช่น เขตป่าไม้ตามกฎหมาย เขตพื้นที่โครงการชลประทาน เป็นต้น โดย ขั้นตอนหลังจากนี้กระทรวงเกษตรฯ จะจัดส่งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อให้มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการทำการผลิตหรือการส่งเสริมการผลิตทาง การเกษตรที่เหมาะสม มีปริมาณการผลิตที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด สามารถรักษาเสถียรภาพของระดับราคาผลผลิตทางการเกษตร และยกระดับรายได้ของเกษตรกรให้สูงขึ้น                สำหรับเขตเหมาะสมต่อการปลูกข้าวมีทั้งสิ้น 75 จังหวัด 793 อำเภอ 5,669 ตำบล แบ่งเป็น ภาคเหนือ 17 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ภาคกลาง 18 จังหวัด ภาคตะวันออก 7 จังหวัด และภาคใต้ 13 จังหวัด                โดยเขตเหมาะสมสำหรับการปลูกอ้อยโรงงาน 51 จังหวัด 432 อำเภอ 2,369 ตำบล แบ่งเป็น ภาคกลาง 11 จังหวัด ภาคตะวันออก 6 จังหวัด ภาคเหนือ 14 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด เขตเหมาะสมสำหรับการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รวมทั้งสิ้น 42 จังหวัด แบ่งเป็น ภาคเหนือ 17 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 12 จังหวัด ภาคกลาง 7 จังหวัด ภาคตะวันออก 6 จังหวัด                ขณะที่พื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับปลูกยางพารามีทั้งสิ้น 68 จังหวัด 499 อำเภอ 2,251 จังหวัด แบ่ง เป็น ภาคกลาง 8 จังหวัด ภาคตะวันออก 7 จังหวัด ภาคเหนือ 17 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด และภาคใต้ 14 จังหวัด เขตเหมาะสมสำหรับการปลูกมันสำปะหลังมีทั้งสิ้น 49 จังหวัด 478 อำเภอ 2,314 ตำบล แบ่งเป็น ภาคกลาง 9 จังหวัด ภาคตะวันออก 6 จังหวัด ภาคเหนือ 14 จังหวัด และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด และสุดท้ายคือ เขตเหมาะสมสำหรับการปลูกปาล์มน้ำมัน มีทั้งสิ้น 26 จังหวัด 185 อำเภอ 856 ตำบล แบ่งเป็น ภาคกลาง 5 จังหวัด ภาคตะวันออก 7 จังหวัด และภาคใต้ 14 จังหวัด                “การประกาศกำหนดเขตเหมาะสมสำหรับปลูกพืช 6 ชนิดในครั้งนี้ จะ เป็นข้อมูลที่สำคัญในการให้เกษตรกรพิจารณาและตัดสินใจร่วมกับเจ้าหน้าที่ ของกระทรวงเกษตรฯในพื้นที่ เพื่อให้การเพาะปลูกของตัวเองเกิดความเหมาะสมและเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่ง กระทรวงเกษตรฯ ก็ต้องมีการพิจารณาหามาตรการจูงใจให้เกษตรกรหันมาปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกให้ มีความเหมาะสมกับพื้นที่ เช่น การสนับสนุนด้านโครงสร้างพื้นฐานไม่ว่าจะเรื่องน้ำ หรือปัจจัยการผลิตอื่นๆ ควบคู่ด้วย“ นายยุคล กล่าว                นอกจากนี้การประกาศเขตโซนนิ่งจะทำให้ง่ายต่อการจ่ายเงินชดเชยกรณีเกิดภัยธรรมชาติ ซึ่งขณะนี้กระทรวงการคลังเห็นชอบในเบื้องต้นแล้วที่จะปรับเกณฑ์การชดเชยความเสียหายจากเดิมนาข้าวจะได้รับไร่ละ 606 บาทเป็น 1,500 บาท แม้ว่าจะไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กระทรวงเกษตรฯเสนอไปไร่ละ 2,222 บาท ซึ่งทางกระทรวงการคลังเห็นว่าเป็นอัตราที่สูงไป เนื่องจากมีการรวมค่าเมล็ดพันธุ์อยู่ด้วย ประกอบกับอัตราชดเชยดังกล่าวกำหนดไว้ในช่วงที่เกิดอุทกภัยน้ำท่วมปี 54 ซึ่งเป็นภัยร้ายแรงผิดธรรมชาติ                นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) กล่าวว่ากรณีโซนนิ่งข้าวที่มีพื้นที่ทั่วประเทศนั้น การจัดการจะยากกว่าสินค้าชนิดอื่น ดังนั้นการโซนนิ่งเพื่อเพิ่มมูลค่าและควบคุมปริมารการผลิตจะใช้วิธีการกำหนดพันธุ์ เช่นกรณีทุ่งกุลาร้องไห้จะส่งเสริมให้ปลุกเฉพาะข้าวหอมมะลิ 105 เท่านั้น ส่วนการปลุกยางพารา และปาล์มน้ำมันแม้ว่าจะมีพื้นที่ที่เหมาะสมในภาคใต้ และอีสาน แต่ยังมีปัญหากรณีพื้นที่อุทยาน ซึ่งต้องกันออกนอกพื้นที่โซนนิ่งไปก่อน เพื่อไม่ให้เกิดข้อครหากรณีกระทรวงเกษตรฯสนับสนุนการบุกรุกป่า โดยเรื่องนี้จะต้องหารือร่วมกับกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมด้วย                ส่วนข้าวโพด อ้อย และมันสำปะหลัง ปัจจุบันจะพบว่ามีพื้นที่ปลูกทับซ้อนกันอยู่ การสนับสนุนให้ปลูกต้องพิจารณาถึงปริมาณความต้องการเป็นหลัก เพื่อที่ปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม สำหรับพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม กระทรวงเกษตรฯจะเข้าไปส่งเสริมอาชีพอื่นให้กับเกษตรกรต่อไป

No comments:

Post a Comment

Blog Archive