Saturday, March 20, 2010

มาสร้างหนังสือดิจิทัลกันเถอะ

มาสร้างหนังสือดิจิทัลกันเถอะ



คมชัดลึก :เสียงเจี๊ยวจ๊าวดังลั่นห้องเมื่ออาจารย์สุภา เสือเขียว เจ้าของชั่วโมงสอนคณิตศาสตร์ ณ โรงเรียนโพธิ์ไทรงาม ใน จ.พิจิตร ให้เวลานักเรียนทำแบบฝึกหัดเกี่ยวกับ "การแปลงทางเรขาคณิต"







 ไม่ว่าจะฟังเสียงจากมุมไหนของห้องก็จอแจไปด้วยการถามไถ่ หรืออธิบายกันสับสน เพราะเนื้อหายาก และรูปประกอบในหนังสือเรียนที่นิ่งสนิท ทำเรื่องยากให้ยากเข้าไปใหญ่
 "การแปลงทางเรขาคณิต มี 3 หน่วย คือ การเลื่อนขนาน, การสะท้อน และการหมุน เป็นเรื่องไม่ยาก แต่เด็กไม่ค่อยเข้าใจและสับสน เพราะเนื้อหาในหนังสือ หรือการอธิบายปากเปล่าไม่ช่วยให้เห็นภาพชัดขึ้น สื่อการสอนดิจิทัลเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อช่วยให้เด็กเข้าใจบทเรียนมากขึ้น" อาจารย์สุภามองทางออก
 สื่อดิจิทัลเป็นตัวช่วยครูและนักเรียนของโรงเรียนโพธิ์ไทรงามได้เป็นอย่างดี เมื่ออุทยานการเรียนรู้ ทีเค พาร์ค เปิดเวทีประกวดสุดยอดนักสร้างสรรค์สื่อการสอนด้วยหนังสือดิจิทัล หรือ อี-บุ๊ก อาจารย์สุภาจึงไม่พลาดที่จะส่งผลงานร่วมของตนและลูกศิษย์คือ ด.ญ.จุลินทิพย์ กองลินแก้ว และนายปริวัตร เทืองสันเทียะ เข้าร่วมโครงการ
 รูปภาพที่สดใส ภาพเคลื่อนไหวช่วยให้เห็นการเลื่อน การสะท้อนและการหมุน ช่วยให้บทเรียนการแปลงทางเรขาคณิตเข้าใจง่ายขึ้น ยืนยันได้จากแบบฝึกหัดที่เด็กนักเรียนทำแล้วได้คะแนนดีกว่าเดิม
 ที่ปลื้มใจยิ่งกว่าคือ ผลงานของครูสุภาและนักเรียนสามารถผ่านผลงานส่งประกวด 355 ผลงาน คว้ารางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ระดับมัธยมศึกษา พร้อมรับถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
 เช่นเดียวกับผลงานของนักเรียนชั้น ป.5 โรงเรียนบ้านดอนขวาง จ.นครราชสีมา ที่ควงแขนอาจารย์ธงชัย ขำเทศ มารับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ระดับประถมศึกษาของเวทีเดียวกัน บรรดาเด็กๆ แม้จะดูเขินอาย พูดน้อย แต่เมื่อก้าวขึ้นไปรับถ้วยพระราชทาน ทั้งศิษย์และอาจารย์ก็ยิ้มแก้มปริ
 "โรงเรียนบ้านดอนขวางไม่ค่อยได้ใช้สื่อการสอนดิจิทัล เพราะเรามีคอมพิวเตอร์เพียง 16 เครื่อง ที่ใช้สอนวิชาคอมพิวเตอร์เท่านั้น และวิชาของเด็กประถมก็ไม่ค่อยยาก ทำให้อาจารย์ไม่ค่อยได้ใช้ทำสื่อการสอนมากนัก" อาจารย์ธงชัยเล่า
 แม้จะเป็นโรงเรียนต่างจังหวัด แต่เวทีประกวดอี-บุ๊กของทีเค พาร์คในปีนี้ กลับเป็นครั้งที่ 2 ที่ทีมของโรงเรียนบ้านดอนขวางส่งผลงานเข้าประกวด ด้วยตัวอาจารย์ธงชัยเอง เรียนจบมาทางด้านคอมพิวเตอร์ จึงเป็นความสนใจและตั้งใจที่จะทำประกวด
 นอกจากความถนัดคอมพิวเตอร์ของอาจารย์ ตัวลูกศิษย์อย่าง ด.ช.สราวุฒิ หงษ์ทอง หรืออาร์ม ก็ใช่ย่อย เขามีฝีมือวาดรูปด้วยโปรแกรมและทำได้ดีจนน่าแปลกใจ หนุ่มน้อยบอกว่า ไม่ชอบวาดภาพบนกระดาษ แต่ชอบใช้เมาส์วาด ภาพประกอบอี-บุ๊กเรื่อง มาตราตัวสะกด จึงเป็นหน้าที่ของน้องอาร์ม
 หนังสือดิจิทัลที่คิดว่าทำยาก แต่ด้วย Desktop Author (http://www.desktopauthor.com/) ซอฟต์แวร์จากออสเตรเลีย ทำให้การสร้างอี-บุ๊กเป็นเรื่องง่าย 
 ทางผู้จัดการประกวดอี-บุ๊ก 4 ภูมิภาคอย่างสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (ทีเค พาร์ค) และมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย จัดซื้อลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ดังกล่าวและแจกจ่ายไปให้โรงเรียนที่เข้าร่วมประกวด เพื่อป้องกันปัญหาละเมิดลิขสิทธิ์ ขณะเดียวกันก็ทำให้อี-บุ๊ก สื่อการสอนรูปแบบดิจิทัลสามารถใช้งานได้ในวงกว้าง เพราะซอฟต์แวร์ดังกล่าวสามารถเซฟหนังสือดิจิทัลในรูปแบบของไฟล์พร้อมใช้งาน ขนาดไม่ใหญ่มาก และยังเปิดอ่านได้ง่าย แค่คลิกเท่านั้น
 "จากการประกวดในปีแรกๆ ที่ผลงานส่วนมากมาให้เห็นในลักษณะของการตัดแปะ (Cut&Paste) ครั้งที่ 2 เราจึงเริ่มวางเงื่อนไข จัดอบรมมากขึ้น เพื่อสร้างความตระหนักเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา เน้นการทำงานศิลป์ และการใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง ผลงานที่ส่งมามีพัฒนาการขึ้น" นางทัศนัย วงศ์พิเศษกุล ผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (ทีเค พาร์ค) อธิบาย
 "ปีนี้เป็นการประกวดครั้งที่ 3 และเป็นครั้งแรกสำหรับการร่วมมือกับมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย ที่แข็งแกร่งในด้านไอที ความรู้เชิงเทคนิคจึงแน่นขึ้น" นางทัศนัย กล่าว
 การประกวดปีที่ 3 กำหนดหัวข้อให้ใกล้ตัวมากขึ้น โดยนำ 8 สาระการเรียนรู้มาประยุกต์ เพื่อให้เป็นหนังสือดิจิทัลที่นำไปใช้ประกอบการเรียนการสอนได้จริงๆ
 ผลงานที่ผ่านรอบสุดท้ายทั้ง 10 ทีมของระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา จะนำไปใส่ในเว็บไซต์ของทีเค พาร์ค และมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย ให้ดาวน์โหลดไปใช้ได้ฟรี และจะนำไปใส่ในซีดีแจกไปยังโรงเรียนต่างๆ อีกด้วย
สาลินีย์ ทับพิลา








ข่าวที่เกี่ยวข้องหนูไม่กลัวแมว ช็อปกระจาย-อ่านสองจอ"จีเอ็มเอ็ม"ส่งอี-บุ๊กดันรายได้(ไม่)เชื่อมั่นธนาคารมร.สส.ทอดผ้าป่าการศึกษาเพิ่มโอกาสชนเผ่าบนดอย

NEWSblank ข่าวออนไลน์
เรียนภาษาอังกฤษ | หอพัก | ดาวน์โหลด | vol6

No comments:

Post a Comment

Blog Archive